Search

ยอดผลิต-ขายรถยนต์ “ทิ้งดิ่ง” ตกทุบสถิติ ใกล้จุดต่ำสุดในรอบ 10 ปี “หนี้เสีย” บวมเป่ง หวัง EV ชุบชีวิต แต่ยากมาก - ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - แม้จะมีการประสานเสียงกันว่า การเลิกสายพานการผลิตของ “ซูบารุ” และ “ซูซูกิ” สองค่ายรถยนต์จากญี่ปุ่นไม่ได้มีผลกระทบอะไรมากมาย เพราะมียอดขายน้อย แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า นี่เป็นปรากฏการณ์ยอดภูเขาน้ำแข็ง ที่สะท้อนว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย กำลังถดถอยอย่างหนักในรอบสิบปี โดยมีผลมาจากปัญหาใหญ่ในระดับโครงสร้างกันเลยทีเดียว 

 หนึ่ง-แรงงานไทย  ไม่ได้ราคาถูกเพียงพอที่จะดึงดูดการลงทุนอีกต่อไปแล้ว

 สอง-ปัญหาหนี้ครัวเรือน  ที่พุ่งทะยานไม่หยุด ฉุดกำลังซื้อภายในประเทศ แบงก์และไฟแนนซ์ปฏิเสธการปล่อยสินเชื่อ ขณะที่  “หนี้เสีย” และ “หนี้ค้างชำระ” ในกลุ่มสินเชื่อยานยนต์ เบ่งบานกว่า 7 แสนบัญชี ซึ่งเป็นผลพวงจากเศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นตัว การทำมาหากินฝืดเคือง ดูจากอัตราการเติบโตเศรษฐกิจ ติดอันดับบ๊วยสุดในกลุ่มประเทศอาเซียน

ความถดถอยของอุตสาหกรรมยานยนต์ เป็นประเด็นใหญ่ที่  ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)  เชื้อเชิญผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ผู้ประกอบการธุรกิจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มาร่วมแลกเปลี่ยนมุมมอง รวมถึงความกังวลต่อปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เตรียมพร้อมรับแรงกระแทก รวมทั้งการมองไปข้างหน้าเพื่อยกระดับศักยภาพของอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทย ที่ได้ชื่อว่า “ดีทรอยต์แห่งเอเชีย” (Detroit of Asia)  ยุคเครื่องยนต์สันดาป ซึ่งกำลังเผชิญความท้าทายในการก้าวสู่ยุคยานยนต์ไฟฟ้า หรือ EV ที่มีกลุ่มทุนจีนเป็นหัวหอก

 ยุพิน บุญศิริจันทร์  ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ส.อ.ท. กล่าวถึงการประชุมร่วมกับแบงก์ชาติ ประเด็นเรื่องการปรับตัวของธุรกิจภายใต้การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา ว่าอาจเพราะเศรษฐกิจยังคงชะลอตัว อุตสาหกรรมยานยนต์ยอดขายตก ปัจจัยหลักมาจากการปล่อยสินเชื่อที่เข้มงวดขึ้นของแบงก์

ความถดถอยของอุตสาหกรรมยานยนต์ ไม่เพียงแต่ยอดขายตกเท่านั้น มีการรายงานตัวเลขการผลิตที่ตกต่ำลงเช่นเดียวกัน โดยกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) รายงานจำนวนรถยนต์ที่ผลิตในเดือน มกราคม – เมษายน 2567 มีจำนวน 518,790 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันกับปีก่อน 17.05% สอดคล้องกับยอดขายที่ลดลง เพราะหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้น และเศรษฐกิจเติบโตต่ำ ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมติดลบ มาหลายเดือน กำลังซื้อยังเปราะบาง

ล่าสุด ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ในเดือนพฤษภาคม 2567 อยู่ที่ระดับ 88.5 ปรับตัวลดลงจาก 90.3 ในเดือนเมษายน 2567 โดยปรับตัวลดลงทุกองค์ประกอบ ทั้งยอดขายโดยรวม ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ เป็นผลมาจากกำลังซื้อในประเทศที่ยังเปราะบาง เนื่องจากเศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอน รวมถึงปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง และสัดส่วนหนี้เสีย (NPLs) ที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้การบริโภคสินค้าชะลอลง

ส.อ.ท. ยังรายงานตัวเลขการผลิตรถยนต์เพื่อส่งออกในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2567 ผลิตได้ 345,608 คัน คิดเป็นสัดส่วน 66.62% ของยอดการผลิตทั้งหมด เทียบช่วงเดียวกันกับปีก่อน ลดลง 2.93%


สำหรับการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ ผลิตได้ 173,182 คัน เทียบช่วงเดียวกันกับปีก่อน ลดลง 35.71% ขณะที่ยอดจำหน่ายรถในประเทศช่วง 4 เดือน แรกของปี 2567 อยู่ที่ 210,494 คัน เทียบช่วงเดียวกันกับปีที่แล้วลดลง 23.9%

ก่อนหน้านี้ สุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ 
ที่ปรึกษาประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ และโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึง ยอดผลิตรถยนต์เดือนเมษายน 2567 ว่า ผลิตได้ 104,667 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน 11.02% ซึ่งเป็นผลจากการลดลงของยอดผลิตรถยนต์เพื่อจำหน่ายในประเทศ 34.17% อยู่ที่ 32,739 คัน โดยเฉพาะการผลิตรถยนต์นั่ง 17,398 คัน ลดลง 15.42% และรถกระบะขนาด 1 ตัน 14,616 คัน ลดลง 45.94%

สอดคล้องกับยอดขายเดือนเมษายน 2567 อยู่ที่ 46,738 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน 21.49% เพราะปัญหาหนี้ครัวเรือนที่สูง สถาบันการเงินเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ เศรษฐกิจของประเทศเติบโตต่ำจากความล่าช้าของงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ทำให้การใช้จ่ายการลงทุนภาครัฐลดลงมาก กำลังซื้อของประชาชนอ่อนแอลง

ส.อ.ท. รอดูอีกสองเดือนว่าจะปรับลดประมาณการการผลิตลงหรือไม่ จากเดิมตั้งเป้ายอดการผลิตรถยนต์รวม ปี 2567 อยู่ที่ 1.9 ล้านคัน เนื่องจากหลายสำนักคาดการณ์ปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของประเทศไทยปีนี้ลดลงเหลือ 2.5% จาก 2.7%

ขณะที่ ยอดผลิตเพื่อส่งออกเดือนเมษายน 2567 ผลิตได้ 71,928 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 5.92% สวนทางกับการส่งออกรถยนต์สำเร็จรูป ส่งออกได้ 70,160 คัน ลดลงจากปีก่อน 12.23% เพราะผลิตเพื่อส่งออกได้น้อยจากจำนวนวันทำงานในเดือนเมษายนน้อย

สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม ให้ข้อมูลในทิศทางเดียวกันว่า รายงานการใช้อัตรากำลังการผลิตของอุตสาหกรรมยานยนต์ เดือนเมษายน 2567 อยู่ที่ 47.63% ซึ่งถือว่าต่ำกว่าการใช้อัตรากำลังการผลิตเฉลี่ยของภาคอุตสาหกรรมในช่วงเดียวกันที่อยู่ในระดับ 55.26% โดยภาวะการผลิตและการจำหน่ายลดลง ทั้งรถบรรทุกปิกอัพ รถยนต์นั่งขนาดเล็ก และรถยนต์นั่งขนาดใหญ่

สศอ. ยังรายงานดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมยานยนต์ เดือนเมษายน 2567 เทียบช่วงเดียวกันกับปีที่แล้วลดลง 6.82% โดยมีปัจจัยจากการหดตัวของตลาดภายในประเทศที่ติดลบ 27.97% ซึ่งเป็นผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว กำลังซื้ออ่อนแอจากปัญหาหนี้สินครัวเรือนที่อยู่ระดับสูง การผ่อนชำระมีปัญหา สถาบันการเงินยังคงเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อ เช่นเดียวกับการส่งออกที่ลดลง 6.81% จากรถบรรทุกปิกอัพและรถยนต์นั่งขนาดใหญ่ตามความต้องการสินค้าในประเทศคู่ค้าปรับตัวลดลง

รายงานภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาส 1 ปี 2567 ของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ สอดคล้องกับ สศอ. ที่ว่า การใช้กำลังการผลิตของอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ รถพ่วงและรถกึ่งพ่วง เทียบช่วงเดียวกันกับปีที่แล้วลดลง 22.8% ซึ่งเป็นภาคการผลิตรายสาขาที่อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลงมากที่สุด รวมถึงดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมยานยนต์ เป็นกลุ่มที่ติดลบมากที่สุด

 สุพจน์ สุขพิศาล  ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) มองว่า ปัจจัยสำคัญที่มีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ รวมถึงผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ คือ กรณีที่ธนาคารไม่ปล่อยสินเชื่อในกลุ่มรถปิกอัพ เพราะมีปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือน ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ โดยหนี้ครัวเรือนมีสัดส่วนกว่า 90% ของจีดีพี ทั้งยังมีหนี้นอกระบบอีกว่า 10% สะท้อนว่ารายได้ไม่พอต่อการใช้หนี้

 “อุตสาหกรรมยานยนต์จะฟื้นปีไหน ตอบยาก และไม่กล้าตอบ อย่างปีที่แล้วยอดผลิต 1.84 ล้านคัน ปีนี้น้อยกว่าแน่นอน จากที่เคยคาดการณ์จะถึง 1.9 ล้านคัน แต่จะให้ภาพไว้เลยว่าจะกลับไปต่ำสุดในรอบ 10 ปีแน่นอน” นายสุพจน์ กล่าว  

ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ ส.อ.ท. ยังสะท้อนว่า ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ของไทยยังเข้าไปอยู่ในซัพพลายเชนยานยนต์ไฟฟ้าของจีนได้น้อย และยากมาก ทั้งเรื่องต้นทุน วัฒนธรรมการทำธุรกิจที่คนไทยคุ้นเคยกับญี่ปุ่นมากกว่า ต้องปรับตัวค่อนข้างหนัก และเชื่อว่า มีไม่มากนักที่จะปรับตัวได้

บทวิจัย  “ประเทศไทยกับการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคยานยนต์ไฟฟ้า”  ของธนาคาร HSBC ชี้ว่า ไทยครองแชมป์ผู้ผลิตรถยนต์อันดับหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาแล้วในช่วงทศวรรษ 1990 เมื่อถึงยุครถยนต์พลังงานไฟฟ้า ไทยจะคว้าแชมป์ได้อีกครั้งหรือไม่ ขึ้นอยู่กับปัจจัยสำคัญ คือ การดึงดูดเม็ดเงินลงทุนต่างชาติ หรือ FDI โดยไทยต้อง Fast & Furious หรือ เร็วและแรง ในการดึงดูดต่างชาติเข้าลงทุนในธุรกิจ EV มากขึ้น

HSBC ประเมินว่า ไทยยังต้องการเงินทุน FDI สำหรับรถอีวีเพิ่มขึ้น 4 เท่า คิดเป็นจำนวน 794 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือกว่า 28,100 ล้าน ต่อปี สำหรับช่วง 7 ปีข้างหน้า หรือคิดเป็นมูลค่ารวม 4.7 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 166,900 ล้านบาท เรื่องนี้มีความท้าทายอย่างยิ่ง เพราะอินโดนีเซีย คู่แข่งสำคัญของไทยมีปัจจัยที่ดึงดูดแบรนด์รถไฟฟ้ารายใหญ่ของโลกเข้าไปลงทุน

ทั้งนี้ ไทยตั้งเป้าหมาย 30@30 ให้การผลิตรถยนต์ไฟฟ้า คิดเป็นร้อยละ 30 ของการผลิตทั้งหมดภายในปี 2030 (2573) หรือเท่ากับจำนวนรถยนต์ไฟฟ้าทั้งสิ้น 725,000 คัน ปัจจุบัน ภาครัฐมีความมั่นใจว่า ไทยจะสามารถผลิตรถยนต์ไฟฟ้าได้ 359,000 คัน ภายในปี 2568

 หนี้เสียสินเชื่อรถยนต์ บวมเป่ง 

ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้น ความสามารถในการชำระหนี้ลดลง ทำให้เกิด  “หนี้เสีย”  หรือหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ เอ็นพีแอล รวมถึง  “หนี้ค้างชำระ”  ในกลุ่มสินเชื่อยานยนต์เพิ่มขึ้นในอัตราเร่ง

 สุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) ให้ภาพรวมหนี้ครัวเรือนไทยปัจจุบันอยู่ที่ 91.3% ของจีดีพี มีความอันตรายต่อระบบเศรษฐกิจ โดยข้อมูลหนี้สินครัวเรือนที่อยู่ในเครดิตบูโร ในไตรมาสแรกปี 67 มีมากถึง 13.64 ล้านล้านบาท ไม่นับรวมหนี้สหกรณ์ออมทรัพย์ และหนี้ กยศ.

ในจำนวนหนี้เป็นหนี้ด้อยคุณภาพ (เอ็นพีแอล) หรือหนี้เสีย 1.09 ล้านล้านบาท คิดเป็น 8% ของหนี้รวม ซึ่งมากที่สุดเป็นหนี้เสียรถยนต์ 2.4 แสนล้านบาท เติบโต 32%, หนี้เสียบ้าน 1.99 แสนล้านบาท เติบโต 18%, หนี้เสียของสินเชื่อส่วนบุคคล 2.6 แสนล้านบาท เติบโต 12% และหนี้เสียบัตรเครดิต 64,000 ล้านบาท เติบโต 14.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน

ขณะที่หนี้กำลังจะเป็นเอ็นพีแอล หรือมียอดค้างชำระหนี้ไม่เกิน 90 วัน (SM) ในไตรมาสแรก ปี 2567 มีทั้งสิ้น 6.4 แสนล้านบาท โดยเอสเอ็มไหลมาเพิ่มเร็วและแรง จะทำให้เกิดโอกาสเป็นหนี้เอ็นพีแอลเพิ่มสูงในอนาคต แบ่งเป็น เอสเอ็มหนี้บ้าน 1.86 แสนล้านบาท เติบโต 15%, เอสเอ็มหนี้รถยนต์ 2.04 แสนล้านบาท เติบโต 7% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยหนี้เอสเอ็มกำลังมาแรงคือหนี้บัตรเครดิตที่เติบโตสูง 32.4%

 หากไปดูด้านรายละเอียดของกลุ่มที่เป็นหนี้เสีย และหนี้ค้างชำระในกลุ่มสินเชื่อรถยนต์ พบว่า เกือบทั้งหมดมาจากกลุ่ม Gen Y โดยไตรมาสแรกของปีนี้ พบว่า กลุ่ม Gen Y เป็นหนี้เสียรถยนต์แล้ว 4.15 แสนสัญญา หรือบัญชี ซึ่งคิดเป็นยอดวงเงินรวมที่ 1.28 แสนล้านบาท และกำลังเป็นหนี้เสีย (SM) อีก 2.98 แสนสัญญา หรือ 1.14 แสนล้านบาท หากรวมทั้งสองกลุ่ม Gen Y เป็นหนี้เสีย และค้างชำระโดยรวมกว่า 7 แสนบัญชี คิดเป็นยอดสินเชื่อถึง 2.4 แสนล้านบาท 

ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่กระทบเป็นลูกโซ่ สะท้อนชัดเจนว่าภาพรวมเศรษฐกิจไทย ยังอยู่ในอาการน่าเป็นห่วง ล่าสุด ส.อ.ท. ตรวจสอบข้อมูลกับกรมโรงงาน พบว่า ในปี 2566 ไทยมีโรงงานปิดกิจการรวม 1,337 โรงงาน หรือเฉลี่ยปิดโรงงานเดือนละ 111 โรงงาน สูงขึ้นกว่าปี 2565 ราว 60% ขณะที่ 5 เดือนแรกปี 2567 พบว่ามีการปิดโรงงานไปแล้ว 561 โรงงาน หรือเฉลี่ย 113 โรงงานต่อเดือน ซึ่งถือว่าแย่ลงกว่าปีที่แล้ว โดยมีแรงงานตกงานจากการปิดโรงงานดังกล่าวแล้ว 15,342 คน

 ยังไม่มีข่าวดีสำหรับประชาชนคนไทย ขณะที่ “การเมือง” ก็ไร้ซึ่งเสถียรภาพ กระทบความเชื่อมั่นต่อการลงทุนในทุกมิติ ใต้ฟ้าเมืองไทยในเวลานี้จึงมีแต่ความมืดมนอนธการปกคลุม 

Adblock test (Why?)

อ่านบทความและอื่น ๆ ( ยอดผลิต-ขายรถยนต์ “ทิ้งดิ่ง” ตกทุบสถิติ ใกล้จุดต่ำสุดในรอบ 10 ปี “หนี้เสีย” บวมเป่ง หวัง EV ชุบชีวิต แต่ยากมาก - ผู้จัดการออนไลน์ )
https://ift.tt/il485Nw
รถยนต์

Bagikan Berita Ini

0 Response to "ยอดผลิต-ขายรถยนต์ “ทิ้งดิ่ง” ตกทุบสถิติ ใกล้จุดต่ำสุดในรอบ 10 ปี “หนี้เสีย” บวมเป่ง หวัง EV ชุบชีวิต แต่ยากมาก - ผู้จัดการออนไลน์"

Post a Comment

Powered by Blogger.