เพนกวิน-พริษฐ์ และ แอมมี่-ไชยอมร สองแกนนำ "ราษฎร" ซึ่งตกเป็นจำเลยคดี 112 ได้รับการปล่อยตัวออกจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครแล้ว หลังจากศาลอาญามีคำสั่งอนุญาตปล่อยชั่วคราววันนี้ (11 พ.ค.) โดยทั้งคู่ได้แถลงยอมรับเงื่อนไข "ไม่กระทำการอันเป็นที่เสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์"
บรรยากาศที่ด้านหน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มีมวลชนกลุ่มหนึ่งไปรอต้อนรับ หนึ่งในนั้นคือ รุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง ที่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยนายไชยอมร เดินทางออกจากเรือนจำเมื่อเวลาประมาณ 20.50 น. ขณะที่นายพริษฐ์ ออกมาเมื่อเวลาประมาณ 21.20 น. โดยมีรถโรงพยาบาลวิภาวดีไปรับตัว ซึ่งครอบครัวระบุว่าจะนำตัวไป รักษาอาการเหนื่อยล้าจากการอดอาหาร และโรคประจำตัว
นี่เป็นครั้งแรกในรอบหลายเดือนที่สาธารณชนมีโอกาสเห็นหน้าเพนกวินหลังอดอาหารนาน 57 วัน โดยนักศึกษาหนุ่มสวมใส่เสื้อยืดสีขาว เขียนข้อความด้วยปากกาว่า "ยกเลิก 112 ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์" พร้อมชูสัญลักษณ์ 3 นิ้วให้กับประชาชนที่มารอคอยต้อนรับการได้รับอิสรภาพกลับคืน
อย่างไรก็ตามได้เกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้นเล็กน้อย เมื่อตำรวจ สภ.เมืองร้อยเอ็ด ได้แสดงหมายเข้าจับกุมนายพริษฐ์ ในระหว่างเตรียมออกจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ
นายนรเศรษฐ นาหนองตูม ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษชน เป็นผู้เปิดเผยเรื่องนี้ผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัว ทว่าต่อมา ตำรวจ สภ.เมืองร้อยเอ็ด อนุญาตให้ประกันตัวในชั้นสอบสวน ในวงเงินประกัน 2 แสนบาท โดยใช้เงินจากกองทุนราษฎรประสงค์ ทำให้เพนกวินได้รับการปล่อยตัว
เช้าวันนี้ (11 พ.ค.) ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ไต่สวนคำร้องขอปล่อยชั่วคราว นายไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ หรือแอมมี่ เดอะบอตทอมบูลส์ เป็นรายแรก จากนั้นในช่วงบ่าย เป็นการไต่สวนคำร้องขอปล่อยชั่วคราว นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน จนเสร็จสิ้นในเวลา 14.00 น. ก่อนพักการพิจารณา ทว่าผ่านไป 4 ชม. ศาลไม่ได้กลับมาขึ้นบัลลังค์เพื่อไต่สวนคำร้องขอประกันตัวนายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือไมค์ ระยอง แต่อย่างใด แม้มีการเบิกตัวจำเลยมาศาลแล้วก็ตาม
กระทั่งเวลา 18.10 น. ศาลแจ้งเลื่อนนัดการไต่สวนคำร้องขอปล่อยชั่วคราวของนายภาณุพงศ์ออกไปก่อน โดยให้เหตุผลว่าศาลได้รับแจ้งจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ว่าการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ไม่พบเชื้อ ทว่าเป็นการตรวจตั้งแต่ 6 พ.ค. ซึ่งมีระยะห่างจากวันปัจจุบันมากเกินไป อีกทั้งจำเลยคลุกคลีกับผู้ติดเชื้อ เป็นอันตรายต่อบุคคลที่เกี่ยวข้อง จึงเห็นควรให้เลื่อนไปรอฟังผลการตรวจโควิดรอบใหม่ก่อน หากศาลได้รับแจ้งผลจากทางเรือนจำเมื่อใด จึงจะกำหนดนัดไต่สวนคำร้องขงจำเลยต่อไป
เพนกวิน และไมค์ ตกเป็นจำเลยในความผิดฐานหมิ่นสถาบันฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, ยุยงปลุกปั่นฯ ตามมาตรา 116 และอีกหลายข้อหา จากกรณีชุมนุมเมื่อ 19-20 ก.ย. 2563 ซึ่งมีจำเลยรวม 22 คน แต่มีอยู่ 7 คนถูกตั้งข้อหามาตรา 112 และไม่ได้ประกันตัวในระหว่างการพิจารณาคดีในวันที่อัยการส่งฟ้อง
ในคดีเดียวกันนี้ แอมมี่เป็นจำเลยในความผิดตามมาตรา 116 และมาตรา 215ได้ประกันตัว แต่ในเวลาต่อมา ศิลปินกลุ่มราษฎรรายนี้ถูกจับกุมและคุมขังภายในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ระหว่างการฝากขังของพนักงานสอบสวน คดีเผาพระบรมฉายาลักษณ์หน้าเรือนจำกลางคลองเปรม เมื่อ 28 ก.พ. 2564 ซึ่งนำไปสู่การตั้งข้อหาตามมาตรา 112, วางเพลิงเผาทรัพย์ผู้อื่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 217 และพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คอมพิวเตอร์
เพนกวิน-แอมมี่ แถลงรับ 3 เงื่อนไข
การไต่สวนคำร้องขอประกันตัวเพนกวิน และแอมมี่ ถูกเลื่อนมาจากนัดหมายเดิมเมื่อ 6 พ.ค. ซึ่งในวันนั้นศาลไม่ได้เบิกตัวทั้งคู่มาขึ้นศาล หลังได้รับแจ้งจากกรมราชทัณฑ์ว่ายังกักตัวไม่ครบ 14 วันตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยเพนกวินและแอมมี่ถูกคุมตัวอยู่ในห้องเดียวกับนายชูเกียรติ แสงวงค์ หรือที่รู้จักในชื่อ "จัสติน" แนวร่วมกลุ่มราษฎร จำเลยคดี 112 ซึ่งได้รับการยืนยันว่าติดเชื้อโควิด-19 เมื่อ 24 เม.ย. ทำให้ผู้สัมผัสเสี่ยงสูงทั้งหมดต้องกักตัวระหว่างวันที่ 24 เม.ย.-7 พ.ค. ศาลจึงเลื่อนการไต่สวนคำร้องของ 2 จำเลย มาเป็นวันนี้
ในระหว่างการไต่สวน ทั้งเพนกวิน และแอมมี่ ต่างแถลงยอมรับเงื่อนไขการประกันตัวแบบเดียวกับที่แกนนำ/แนวร่วม "ราษฎร" อื่น ๆ เคยยอมรับก่อนหน้านี้ แล้วทำให้ได้อิสรภาพกลับคืนมา โดยมีสาระสำคัญ 3 ข้อ ประกอบด้วย 1. จะไม่กระทำการใด ๆ ที่ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ 2. ไม่เดินทางออกนอกประเทศ เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากศาลก่อน และ 3. จะเดินทางมาศาลทุกครั้งตามนัดหมาย พร้อมแต่งทนายความในคดีแล้ว
ขณะที่สื่อหลายสำนัก อาทิ มติชน และไทยรัฐ รายงานตรงกันเกี่ยวกับคำแถลงกลางศาลของแกนนำราษฎร โดยนายไชยอมรระบุตอนหนึ่งว่า ที่ผ่านมาไม่เคยหลบหนี ส่วนการเดินทางไป จ.พระนครศรียุธยา เนื่องจากไปพักผ่อน แต่งเพลง และทำธุรกิจ โดยจะเดินทางไปเฉลี่ยเดือนละ 2-3 ครั้ง ขณะที่ถูกจับก็เดินทางไปพักผ่อน ไม่ได้หลบหนี
ขณะที่ทนายความจำเลยได้สอบถามนายพริษฐ์ว่าจะยอมรับเงื่อนไขไม่เข้าร่วมกิจกรรมใด ๆ ที่อาจจะก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองด้วยหรือไม่ เพนกวินจึงขอซักถามและหารือกับทนายความประมาณ 5 นาที
ศาลจึงระบุว่า การชุมนุมเรียกร้องตามสิทธิภายใต้รัฐธรรมนูญสามารถกระทำได้อยู่แล้ว นายพริษฐ์จึงแถลงยืนยันว่าที่ผ่านมาได้ชุมนุมอย่างสงบ สันติ และปราศจากอาวุธ และจะเข้าร่วมเฉพาะกิจกรรมที่สงบสันติ จะไม่ไปเข้าร่วมกิจกรรมที่ก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง
ด้านอัยการโจทก์ได้ถามค้านเพนกวิน เกี่ยวกับเงื่อนไขการปล่อยชั่วคราวว่ารวมถึงการกระทำใด ๆ ในพื้นที่สื่อสังคมออนไลน์ที่เพนกวินเป็นผู้ดูแลด้วยหรือไม่ นายพริษฐ์ตอบว่า ไม่เคยใช้สื่อออนไลน์สร้างความเสื่อมเสียต่อสถาบันฯ
ศาลอนุญาตให้สื่อมวลชนเพียง 3 สำนักเข้ารับฟังการไต่สวนผ่านระบบวิดีโอคอนฟีเรนซ์ เนื่องจากห้องมีขนาดเล็ก และต้องปฏิบัติตามมาตรการลดความเสี่ยงช่วงการระบาดของโควิด-19
ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานในชั้นไต่สวนคำร้องขอปล่อยชั่วคราวของนายพริษฐ์ และนายไชยอมรแล้วเห็นว่า "ถือได้ว่าพฤติการณ์แห่งคดีเปลี่ยนแปลงไป" จึงอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว โดยตีราคาประกันคดี 2 แสนบาทสำหรับนายพริษฐ์ และตีราคาประกัน 2 คดี รวม 2.5 แสนบาทสำหรับนายไชยอมร พร้อมกำหนดเงื่อนไขไว้ว่า 1. ห้ามกระทำการใดในลักษณะเช่นเดียวกับที่ถูกกล่าวหาตามฟ้องอันเป็นที่เสื่อมเสียแก่สถาบันพระมหากษัตริย์ หรือเข้าร่วมกิจกรรมใดที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายภายในบ้านเมือง 2. ห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากศาล และ 3. ให้มาตามกำหนดนัดโดยเคร่งครัด
3 เดือน "ที่หายไป" ของเพนกวิน
9 ก.พ. เพนกวินถูกคุมขังภายในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ พร้อมแกนนำราษฎรชุดแรกอีก 3 คน ได้แก่ นายอานนท์ นำภา, นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข และนายปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม หรือหมอลำแบงค์ หลังศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว
15 มี.ค. ในระหว่างศาลนัดตรวจพยานหลักฐานคดี 19 ก.ย. เพนกวินได้แถลงการณ์กลางศาลว่าจะอดอาหารเพื่อประท้วงทวงสิทธิประกันตัว
16 ก.พ. เพนกวินเริ่มอดอาหารประท้วงวันแรก
22 มี.ค. ศาลสั่งกักขังเพนกวินเป็นเวลา 15 วัน ในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล (จากกรณียืนแถลงการณ์บนเก้าอี้ภายในห้องพิจารณาคดี) ทำให้เขาต้องแยกจากเพื่อน ๆ เพราะถูกย้ายไปสถานกักขังปทุมธานี
6 เม.ย. เพนกวินถูกนำตัวกลับมาคุมขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ อีกครั้ง
28 เม.ย. ทนายความเปิดเผยกับสื่อมวลชน โดยอ้างคำบอกเล่าของเพนกวินในระหว่างเข้าเยี่ยมที่ว่าขับถ่ายเป็นชิ้นเนื้อสีดำทั้งที่ไม่ได้รับประทานอาหาร ซึ่งพยาบาลบอกเพนกวินว่า "น่าจะเป็นเนื้อเยื่อของกระเพาะอาหารที่ร่างกายย่อยออกมา" ทำให้มารดาของเพนกวินและเพื่อน ๆ เกรงเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต
30 เม.ย. กรมราชทัณฑ์ย้ายเพนกวินออกจากเรือนจำ และส่งตัวเข้าตัวรับการรักษาที่ รพ.รามาธิบดี ซึ่งเป็นวันที่ 45 ของการอดอาหาร ทำให้น้ำหนักลดลงไป 12.5 ก.ก. (ในเวลานั้น)
6 พ.ค. กรมราชทัณฑ์ย้ายเพนกวินออกจาก รพ.รามาธิบดี กลับเข้าเรือนจำ โดยให้เหตุผลว่า "ได้รับการรักษาอาการจนดีขึ้น ร่างกายฟื้นฟูตัวเองได้ สามารถดื่มน้ำเกลือแร่ นม และวิตามินได้เป็นปกติแล้ว แพทย์จึงเห็นควรส่งตัวกลับรักษาที่ทัณฑสถาน รพ.ราชทัณฑ์ ตามระเบียบปฏิบัติของราชทัณฑ์"
11 พ.ค. ศาลไต่สวนคำร้องขอประกันตัวครั้งที่ 10 หลังเพนกวินถูกคุมขังนาน 91 วัน (ถูกคุมขังตั้งแต่ 9 ก.พ. 2564) และอดอาหารนาน 57 วันจนถึงปัจจุบัน
เส้นทางการขอคืนอิสรภาพของกลุ่ม "ราษฎร"
ตลอดเวลา 3 เดือนนับจากแกนนำราษฎรชุดแรกถูกจองจำ มีผู้ต้องหา/จำเลยที่ถูกแจ้งข้อหามาตรา 112 ทั้งจากคดีชุมนุม 19 ก.ย. และคดีอื่น ๆ ทยอยได้รับอิสรภาพคืนกลับมาอย่างน้อย 10 คน หลังยอมรับเงื่อนไข "ห้ามกระทำการเสื่อมเสียแก่สถาบันฯ" ทั้งนี้ศาลตีราคาประกันรายละ 2 แสนบาท ในจำนวนนี้มี 2 รายที่สถานะยังเป็น "ผู้ต้องหา" ถูกสั่งให้ติดอุปกรณ์ติดตามตัวอิเล็กทรอนิกส์ (กำไลอีเอ็ม) ด้วย
บีบีซีไทยสรุปรายละเอียดไว้ ดังนี้
9 เม.ย. ศาลอาญาอนุญาตปล่อยชั่วคราวนายปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม หรือหมอลำแบงค์ จำเลยที่ 3 คดีชุมนุม 19 ก.ย. รวมระยะเวลาถูกคุมขังในเรือนจำ 59 วันก่อนได้รับการปล่อยตัว (ถูกคุมขังตั้งแต่ 9 ก.พ. 2564)
23 เม.ย. ศาลอาญาอนุญาตปล่อยชั่วคราวนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข จำเลยที่ 4 และนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน จำเลยที่ 7 คดีชุมนุม 19 ก.ย. รวมระยะเวลาที่นายสมยศถูกคุมขังในเรือนจำ 73 วันก่อนได้รับการปล่อยตัว (ถูกคุมขังตั้งแต่ 9 ก.พ.) และระยะเวลาที่ไผ่ถูกคุมขังในเรือนจำ 46 วันก่อนได้รับการปล่อยตัว (ถูกคุมขังตั้งแต่ 8 มี.ค. 2564)
5 พ.ค. ศาลกาฬสินธุ์อนุญาตปล่อยชั่วคราวนายปิยรัฐ จงเทพ หรือโตโต้ แกนนำกลุ่มการ์ดอาสา "วีโว่" ผู้ต้องหาคดี 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ จากกรณีจัดทำป้ายวิจารณ์การจัดหาวัคซีนต้านโควิด-19 ของรัฐบาล แต่มีข้อความดูหมิ่นสถาบันฯ เมื่อ 23 ม.ค. รวมระยะเวลาถูกคุมขังในเรือนจำ 60 วันก่อนได้รับการปล่อยตัว (ถูกจับกุมคุมขังตั้งแต่ 6 มี.ค. 2564 ด้วยข้อหาอั้งยี่ ก่อนถูกแจ้งข้อหา 112 เพิ่ม) ทั้งนี้ศาลกำหนดเงื่อนไขให้ติดกำไลอีเอ็มด้วย
6 พ.ค. ศาลอาญาอนุญาตปล่อยชั่วคราว น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง จำเลยที่ 5 คดีชุมนุม 19 ก.ย. รวมระยะเวลาที่ถูกคุมขังในเรือนจำ 59 วันก่อนได้รับการปล่อยตัว (ถูกคุมขังตั้งแต่ 8 มี.ค. 2564)
7 พ.ค. ศาลอาญาธนบุรีอนุญาตปล่อยชั่วคราว น.ส.วรรณวลี ธรรมสัตยา หรือตี้ พะเยา แกนนำกลุ่ม "ราษฎรเอ้ย" จำเลยคดี 112 จากกรณีปราศรัยเมื่อ 6 ธ.ค. 2563 ที่ลานพระบรมราชานุสาวรีย์พระเจ้าตากสินมหาราช วงเวียนใหญ่ รวมระยะเวลาที่ถูกคุมขังในเรือนจำ 10 วันก่อนได้รับการปล่อยตัว (ถูกคุมขังตั้งแต่ 27 เม.ย. 2564)
8 พ.ค. ศาลอุทธรณ์ภาค 1 อนุญาตปล่อยชั่วคราว นายพรหมศร วีระธรรมจารี หรือฟ้า แกนนำกลุ่ม "ราษฎรมูเตลู" ผู้ต้องหาคดี 112 จำนวน 4 คดี จากกรณีปราศรัยเมื่อ 14 ม.ค. 2564 ที่หน้าศาลจังหวัดธัญบุรี และกรณีอื่น ๆ รวมระยะเวลาที่ถูกคุมขังในเรือนจำ 54 วันก่อนได้รับการปล่อยตัวในวันที่ 10 พ.ค. (ถูกคุมขังตั้งแต่ 17 มี.ค. 2564) ทั้งนี้ศาลกำหนดเงื่อนไขให้ติดกำไลอีเอ็มด้วย
9 พ.ค. ศาลอาญากรุงเทพใต้อนุญาตปล่อยชั่วคราว นายสิรภพ พุ่มพึ่งพุทธ หรือขนุน แกนนำกลุ่ม "มศว คนรุ่นเปลี่ยน" จำเลยคดี 112 จากกรณีปราศรัยเมื่อ 18 พ.ย. 2563 ที่แยกราชประสงค์และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ รวมระยะเวลาที่ถูกคุมขังในเรือนจำ 2 วันก่อนได้รับการปล่อยตัว (ถูกคุมขังตั้งแต่ 7 พ.ค. 2564)
11 พ.ค. ศาลอาญาอนุญาตปล่อยชั่วคราว นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน จำเลยที่ 1 และนายไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ หรือแอมมี่ จำเลยที่ 17 คดีชุมนุม 19 ก.ย. รวมระยะเวลาที่เพนกวินถูกคุมขังในเรือนจำ 91 วันก่อนได้รับการปล่อยตัว (ถูกคุมขังตั้งแต่ 9 ก.พ.) และระยะเวลาที่แอมมี่ถูกจับกุมคุมขังนาน 69 วันก่อนได้รับการปล่อยตัว (ถูกจับกุมตั้งแต่ 3 มี.ค.)
ถึงขณะนี้จึงเหลือเพียงนายภาณุพงศ์ และนายอานนท์ นำภา ที่ยังไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัวในคดี 19 ก.ย..
เช่นเดียวกับนายชูเกียรติ แสงวงค์ หรือจัสติน แนวร่วมราษฎร ที่ยังอยู่ภายในเรือนจำ หลังตกเป็นผู้ต้องหา/จำเลยคดี 112 ในหลายคดี จากกรณีปราศรัยที่แยกราชประสงค์และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เมื่อ 18 พ.ย. 2563, กรณีปราศรัยที่วงเวียนใหญ่ เมื่อ 6 ธ.ค. 2563 และกรณีติดป้ายข้อความไม่เหมาะสมบนพระบรมฉายาลักษณ์หน้าศาลฎีกา ถ.ราชดำเนิน เมื่อ 20 มี.ค. 2564
กรมราชทัณฑ์ยืนยันว่า ทนายอานนท์และจัสตินกลายเป็นผู้ป่วยโควิด-19 ในระหว่างถูกคุมขังภายในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ แต่ทนายอานนท์ได้ย้ายออกไปรักษาตัวที่ รพ.ธรรมศาสตร์ ส่วนจัสตินนอนอยู่ภายใน รพ.ราชทัณฑ์
จับ ไบร์ท-ชินวัตร คดีดูหมิ่นศาล
การไต่สวนคำร้องขอประกันตัว 3 แกนนำราษฎรในวันนี้ (11 พ.ค.) เกิดขึ้นท่ามกลางมาตรการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด มีการวางกำลังตำรวจคอยดูแลความสงบเรียบร้อยทั้งภายในพื้นที่ศาลและบริเวณรอบ พร้อมปิดประตูทางเข้า-ออกศาลเกือบทั้งหมด, นำแผงรั้วเหล็กมาวางกั้นพื้นที่ทางเข้าโดยรอบ และยังมีรถฉีดน้ำแรงดันสูง (รถจีโน่) มาจอดเตรียมความพร้อมในพื้นที่ศาลด้วย
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเปิดเผยว่า ศาลได้อนุมัติหมายจับนายชินวัตร จันทร์กระจ่าง หรือไบร์ท แกนนำกลุ่ม "คนรุ่นใหม่นนทบุรี" ในความผิดฐานดูหมิ่นศาลหรือผู้พิพากษา และข้อหาอื่น ๆ รวม 6 ข้อหา จากกรณีเปิดปราศรัยบริเวณหน้าศาลอาญาเมื่อ 6 พ.ค. ที่ผ่านมา ทั้งนี้หมายจับออกเมื่อวันที่ 7 พ.ค. โดยมีพนักงานสอบสวน สน.พหลโยธิน เป็นผู้ร้องขอออกหมาย ก่อนแสดงตนเข้าจับกุมไบร์ทเมื่อเวลา 08.30 น. ของวันที่ 11 พ.ค. และยื่นคำร้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางผ่านระบบวิดีโออคนฟีเรนซ์ ขอฝากขังเป็นเวลา 12 วัน ระหว่างวันที่ 11-22 พ.ค.
ศาลพิจารณาแล้วอนุญาตให้ฝากขัง แต่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาระหว่างการสอบสวน โดยตีราคาประกัน 1.5 แสนบาท พร้อมกำหนดเงื่อนไขห้ามก่อความวุ่นวายหรือกระทำกิจกรรมในลักษณะเดียวกับที่ถูกกล่าวหา และห้ามเดินทางออกนอกราชอาญาจักร เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากศาล
https://ift.tt/3o9aUEg
รถประกัน
Bagikan Berita Ini
0 Response to "ราษฎร: ศาลให้ประกันตัว เพนกวิน-แอมมี่ เลื่อนไต่สวนคำร้องขอปล่อยชั่วคราวไมค์ - บีบีซีไทย"
Post a Comment