Search

แบงก์ชาติถกด่วนค่ายรถ รับมือ EV จีน-กู้ไม่ผ่าน - ประชาชาติธุรกิจ

แบงก์ชาติเรียกค่ายรถญี่ปุ่น-สมาคมยานยนต์-สมาคมธุรกิจเช่าซื้อถกด่วน 17 มิ.ย.นี้ ประเมินสถานการณ์ทิศทางอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย เซ็กเตอร์สำคัญขับเคลื่อนจีดีพี เผชิญความท้าทายจากการเปลี่ยนผ่านสู่ “อีวี” ขณะที่กำลังซื้ออยู่ในภาวะอ่อนแอ ส่งผลกระทบหนี้เสียพุ่ง-สถาบันการเงินไม่กล้าปล่อยกู้ ยิ่งกดดันตลาดรถยนต์ในประเทศหดตัว ประธานสมาคมเช่าซื้อเร่งหารือสมาชิกเพื่อหาแนวทาง-ข้อเสนอก่อนพบแบงก์ชาติ ชี้สถานการณ์หนี้เสียขยับ คุณสมบัติ “คนกู้” แย่ลง ส่งผลยอดปฏิเสธสินเชื่อรถใหม่แตะ 20%

ธปท.ถกด่วน “ค่ายรถ-เช่าซื้อ”

แหล่งข่าวจากวงการยานยนต์เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เรียกประชุมผู้ผลิตรถยนต์ อาทิ โตโยต้า, ฮอนด้า, อีซูซุ, นิสสัน และยันม่าร์ (ผู้ผลิตเครื่องยนต์การเกษตร) รวมถึงผู้ผลิตแบตเตอรี่รถไฟฟ้า (อีวี) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย และสมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทย ในวันที่ 17 มิถุนายน 2567

โดยคาดว่าจะเป็นการพูดคุยถึงสถานการณ์ภาพรวมของตลาดอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทยที่ค่อนข้างมีปัญหา ทั้งจากปัจจัยกำลังซื้อ และโครงสร้างอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยที่เปลี่ยนไป จากการเข้ามาของรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ซึ่งจะส่งผลต่อภาพรวมการเติบโตเศรษฐกิจของประเทศ

ซึ่งปัจจุบันพบว่า ผู้ผลิตรถยนต์สันดาปได้รับผลกระทบจากยอดขายที่ปรับลดลง ผลกระทบจากรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) จีนที่เข้ามาทำตลาดโดยใช้นโยบายราคา รวมถึงสถานการณ์ปัญหายอดการปฏิเสธสินเชื่อ (Rejection Rate) ที่ปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลจากภาระหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง และกำลังซื้อที่อ่อนแอของผู้บริโภค จากทิศทางเศรษฐกิจที่ยังฟื้นตัวไม่ทั่วถึง

ขณะที่ภาคธุรกิจเอกชนต่าง ๆ ก็จะมีข้อเสนอและแนวทางการช่วยเหลือของสมาคมต่าง ๆ ที่ต้องการให้ภาครัฐเข้าไปช่วยเหลือเพิ่มเติม

“ธปท.คงอยากรู้ว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นมีปัญหามาจากอะไร ส่วนข้อเสนอเชื่อว่าสมาคมต่าง ๆ คงมีประชุมกันภายในก่อนจะไปคุยกับ ธปท. ซึ่งเบื้องต้นเรายังไม่ได้มีข้อเสนอ อาจจะต้องรอหารือร่วมกับ ธปท.ก่อน และดูแนวทางกันอีกครั้ง

เช่น การรีเจ็กต์ที่อยู่ในระดับสูง เชื่อว่าสถาบันการเงินมีหลักเกณฑ์การปล่อยสินเชื่ออยู่แล้ว เพื่อคุมความเสี่ยง อาจจะปรับไม่ได้ อาจจะต้องไปดูส่วนอื่น ๆ แทน เพื่อลดผลกระทบ เช่น แนวทางให้ภาครัฐช่วยกระตุ้นยอดขาย เป็นต้น”

โจทย์ใหญ่กำลังซื้อ “คนกู้” แย่

นายศรัณย์ ทองธรรมชาติ ประธานสมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทย เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทยจะมีการประชุมภายในวันที่ 13 มิถุนายน 2567 เพื่อหารือกับสมาชิกสมาคมก่อน เพื่อหาแนวทางและข้อคิดเห็นต่าง ๆ เพื่อรวบรวมข้อเสนอของสมาชิกแต่ละคน ก่อนจะมีการหารือร่วมกับ ธปท. ในวันที่ 17 มิถุนายน 2567

สำหรับภาพรวมธุรกิจเช่าซื้อในปี 2567 จะเห็นว่าสถานการณ์ยังไม่ค่อยดีนัก โดยในแง่ของการปล่อยสินเชื่อมองว่า สถาบันการเงินไม่ได้มีการปรับเงื่อนไขให้เข้มงวดขึ้น แต่แนวโน้มยอดการปฏิเสธที่ขยับเพิ่มสูงขึ้น เกิดจากคุณสมบัติของผู้กู้อ่อนแอลง

ทั้งในแง่กำลังซื้อ และสัดส่วนภาระหนี้ที่อยู่ในระดับสูง ทำให้สถาบันการเงินจำเป็นต้องปฏิเสธการปล่อยสินเชื่อ โดยปัจจุบันอัตราการปฏิเสธสินเชื่อรถใหม่อยู่ที่ 20% และรถยนต์ใช้แล้ว 40%

ขณะที่สถานการณ์ทิศทางหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) มีแนวโน้มทรงตัวอยู่ในระดับสูง โดยจะเห็นว่าทุกสถาบันการเงินพยายามช่วยเหลือลูกค้าผ่านมาตรการทางการเงิน เช่น มาตรการพักชำระหนี้ ปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อชะลอการยึดรถ และชะลอกระบวนการฟ้องร้องทางกฎหมาย เพื่อประคองไม่ให้ยอดผิดนัดชำระหนี้ (Stage 2 หรือ SM) ไหลไปสู่หนี้เอ็นพีแอลมากขึ้น

ยอดขายรถ 4 เดือน ร่วง 24%

นายศรัณย์กล่าวว่า ยอดขายรถยนต์ที่ปรับลดลง สอดคล้องไปตามภาวะเศรษฐกิจที่ยังฟื้นตัวไม่ทั่วถึง ทำให้ยอดขายรถยนต์รวม 4 เดือนแรก (มกราคม-เมษายน 2567) อยู่ที่ 210,494 คัน ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนราว 23.90% อย่างไรก็ดี หลังจากงบประมาณภาครัฐทยอยออกมาคาดว่าในช่วงไตรมาสที่ 4/2567 น่าจะปรับดีขึ้น ซึ่งปัจจุบันค่ายรถและสถาบันการเงินพยายามออกโปรแกรมการขายเพื่อประคองยอดขายให้ผ่านช่วงนี้ไปให้ได้

“ภาพอุตสาหกรรมเช่าซื้อมี 2-3 สถานการณ์ที่เกิดขึ้น ส่วนแนวทางการเสนอต่อ ธปท.นั้น อาจจะต้องมีการประชุมร่วมกันภายในวันที่ 13 มิ.ย.นี้ก่อน เพื่อรับฟังแนวคิดและข้อเสนอของสมาชิกแต่ละคน เพื่อรวบรวมเสนอต่อ ธปท.ต่อไป”

แก้โจทย์ภาพรวมเศรษฐกิจ

นายอนุชาติ ดีประเสริฐ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอพเพิล ออโต้ ออคชั่น (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การนัดพบระหว่าง ธปท. และผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมรถยนต์ ในวันที่ 17 มิถุนายนนี้ มองว่า ธปท.ต้องการเก็บข้อมูลสถานการณ์ภาพรวมของอุตสาหกรรมรถยนต์

เพื่อประเมินภาพรวมเศรษฐกิจมหภาคที่จะมีผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากต้องยอมรับว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ถือเป็นอุตสาหกรรมหลักที่ขับเคลื่อนจีดีพีไทย

ส่วนนโยบายด้านสินเชื่อน่าจะปล่อยให้เป็นไปตามเกณฑ์ของแต่ละสถาบันการเงิน เนื่องจาก ธปท.ไม่ได้คุมธุรกิจโดยตรง หรือที่ช่วยได้อาจจะเป็นเรื่องการผ่อนเกณฑ์วงเงินต่อมูลค่าหลักประกัน (LTV) ได้

นายอนุชาติกล่าวว่า อย่างไรก็ดี ในแง่ภาพรวมอุตสาหกรรมรถยนต์เผชิญปัญหา 3 ปัจจัยหลัก คือ 1.เศรษฐกิจที่ไม่ได้มีปัจจัยบวกมาขับเคลื่อน 2.กำลังซื้อผู้บริโภคอ่อนแอ จากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว โดยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา กำลังซื้อรถยนต์จะมาจากสินเชื่อประมาณ 70-80% และเมื่อสถาบันการเงินเจอปัญหาหนี้เสีย (เอ็นพีแอล) จึงต้องระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น ทำให้ไม่เกิดการซื้อขาย ส่งผลให้ยอดขายลดลง ปัจจุบันยอดขายรถยนต์ใหม่ลดลงถึง 40%

และ 3.นโยบายรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ของภาครัฐที่ต้องการส่งเสริมให้เกิดการลงทุนจากต่างประเทศ โดยสนับสนุนให้ไทยเป็นฐานการผลิต แข่งกับประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย ผ่านมาตรการดึงดูดนักลงทุน ส่งผลให้รถอีวีเข้ามาแข่งขันกับรถสันดาป จึงเกิดเป็นการแข่งขันด้านราคาเกิดขึ้น สะท้อนว่าไทยมีสินค้าเพิ่มขึ้น แต่คนซื้อมีเท่าเดิม ทำให้อุตสาหกรรมภาพรวมเกิดผลกระทบจากการแข่งขันดังกล่าว

“ภาพอุตสาหกรรมรถยนต์คงไม่ได้ถึงขั้นวิกฤตหรือเลวร้าย จนน่าเป็นกังวล เพียงแต่เป็นการปรับตัวตามสภาพเศรษฐกิจที่ตอนนี้ไม่มีปัจจัยบวกเข้ามา ประกอบมีภาพการปิดโรงงานรถยนต์ กระทบต่อการจ้างงาน และที่ผ่านมา คนบริโภคด้วยการเป็นหนี้ ไม่มีรายได้ ทำให้ ธปท.อาจต้องการเห็นภาพใหญ่ว่าเกิดอะไรขึ้น เพื่อประเมินผลต่อเศรษฐกิจต่อไป”

ยอดรถยึดเดือนละ 2.2 หมื่นคัน

นายอนุชาติกล่าวว่า สำหรับสถานการณ์รถยึดในช่วง 4-5 เดือนแรก จะเริ่มเห็นอัตราการยึดรถค่อนข้างทรงตัวและเลยจุดพีก (สูงสุด) ไปแล้ว ที่เคยเฉลี่ยอยู่ที่ 2.6-2.7 หมื่นคันต่อเดือน ปัจจุบันลดลงเหลือ 2.2-2.3 หมื่นคันต่อเดือน ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากสถาบันการเงินเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อใหม่ และมีการคัดกรองด้านเครดิตลูกค้าใหม่

รวมถึงมีมาตรการปรับโครงสร้างหนี้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งจากปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้อัตราการยึดรถน้อยลง ทำให้รถยึดเข้าลานประมูลลดลง โดยทั้งปีคาดว่าจะอยู่ที่ 2-2.5 แสนคัน จากปีก่อนอยู่ที่ 2.5-3 แสนคัน ลดลงราว 5 หมื่นคัน และคาดว่าอัตราการยึดรถเฉลี่ยต่อเดือนจะปรับลดลงเหลือเพียง 1.8-2 หมื่นคัน

สินเชื่อเช่าซื้อ Q1/67 หดตัว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พบว่า ในไตรมาส 1/2567 อัตราการขยายตัวของสินเชื่อเช่าซื้อหดตัว -3.0% จากไตรมาสที่ 4/2566 หดตัว -0.4% ขณะที่เอ็นพีแอล อยู่ที่ 2.14% ขยับเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 4/2566 อยู่ที่ 2.13%

โดยในส่วนของสินเชื่อกล่าวถึงเป็นพิเศษ (SM) หรือหนี้ที่มีการค้างชำระแต่ไม่เกิน 90 วัน ณ ไตรมาสที่ 1/2567 อยู่ที่ 14.49% เพิ่มจากไตรมาสที่ 4/2566 ที่อยู่ 14.29%

ค่ายรถสะท้อนปัญหา

แหล่งข่าวจากบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวเสริมว่า ดีมานด์ของตลาดรถยนต์ไม่ได้หายไป เพียงแต่การทำตลาดและการซื้อรถยนต์ยากขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยความเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อ ประกอบกับกำลังซื้อของผู้บริโภคที่อ่อนแอลง

โดยพบว่ามียอดปฏิเสธลูกค้าของไฟแนนซ์มากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งเป็นการตอกย้ำให้เห็นว่า ลูกค้ายังมีความต้องการใช้งานรถยนต์แต่ติดเงื่อนไข โดยเฉพาะรถปิกอัพขนาด 1 ตัน ดังนั้นหากรัฐบาลมองเห็นปัญหาตรงนี้และเข้าไปช่วยเหลือก็น่าจะทำให้ทุกอย่างดีขึ้น

เช่นเดียวกับ นายศุภรัตน์ ศิริสุวรรณางกูร ประธานกิตติมศักดิ์กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า สิ่งที่ค่ายรถคาดหวังคือ รัฐบาลจะเร่งรัดการเบิกจ่ายและการลงทุน รวมทั้งการกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโต ซึ่งรัฐบาลก็ได้กระตุ้นการซื้ออสังหาริมทรัพย์เมื่อเดือนเมษายนแล้ว จึงขอรัฐบาลช่วยกระตุ้นกำลังซื้อรถยนต์ด้วย

โดยเฉพาะรถยนต์สันดาปภายในและรถกระบะที่ใช้ชิ้นส่วนผลิตในประเทศกว่า 90% ซึ่งมีอุตสาหกรรมต่อเนื่องจำนวนมากพอ ๆ กับอสังหาริมทรัพย์ เพื่อให้อุตสาหกรรมเหล่านี้มีการผลิตเพิ่มขึ้น จ้างงานเพิ่มขึ้น ประชาชนมีงานทำมากขึ้น รัฐบาลเก็บภาษีสรรพสามิตและภาษีมูลค่าเพิ่ม รวมทั้งภาษีเงินได้เพิ่มขึ้น ทั้งนิติบุคคลและบุคคลธรรมดา เศรษฐกิจเติบโตในอัตราที่สูงขึ้น

Adblock test (Why?)

อ่านบทความและอื่น ๆ ( แบงก์ชาติถกด่วนค่ายรถ รับมือ EV จีน-กู้ไม่ผ่าน - ประชาชาติธุรกิจ )
https://ift.tt/d6KCWFi
รถยนต์

Bagikan Berita Ini

0 Response to "แบงก์ชาติถกด่วนค่ายรถ รับมือ EV จีน-กู้ไม่ผ่าน - ประชาชาติธุรกิจ"

Post a Comment

Powered by Blogger.