Search

ญี่ปุ่นพลิกเกม "ไฮบริด" แซง EV จีน โตโยต้านำโด่งมอเตอร์โชว์ - ประชาชาติธุรกิจ

มอเตอร์โชว์

อุตฯรถยนต์ไทยยังผันผวน ปัจจัยลบกระทบยอดจองรถในงานมอเตอร์โชว์ 10 วันไปไม่ถึง 3 หมื่นคัน ค่ายญี่ปุ่นพลิกเกม กลุ่มรถไฮบริดชนะใจลูกค้า โตโยต้า-ฮอนด้า-นิสสัน-มิตซูฯ-ซูซูกิ แรงเกินคาด ขณะที่ EV จีนอ่อนแรงจากผลกระทบสงครามหั่นราคา จับตา BYD หลุดแชมป์ ผลวิจัย KKP ผวากำลังผลิตส่วนเกิน EV จีน ทะลักสร้างสงครามราคาต่อเนื่อง เผยตลาดโลก EV เริ่มชะลอ ไฮบริดพลิกกลับ

อุตสาหกรรมยานยนต์ของไทย วันนี้ยังต้องเผชิญกับปัจจัยลบรอบด้าน เศรษฐกิจชะลอตัว การแข่งขันรุนแรง กำลังซื้อหดหาย สงครามราคา และปัญหาความเข้มงวดของสถาบันการเงิน โดยเห็นตัวเลขการขายที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง 3 เดือนติด และในงานมอเตอร์โชว์ ซึ่งยังเหลือเวลาอีก 4 วันก่อนจบงานสะท้อนภาพตลาดได้เป็นอย่างดีโดย 10 วันของการจัดงานพบว่ามียอดขายรถยนต์ไม่ถึง 3 หมื่นคัน จากเป้าที่ผู้จัดตั้งไว้ราวๆ 5 หมื่นคัน

ไฮบริดแรง-EV แผ่ว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตลอด 10 วันที่ผ่านมาของงานมอเตอร์โชว์ ซึ่งมีค่ายรถยนต์และรถจักรยานยนต์เข้าร่วมงานมากถึง 50 แบรนด์ และมีรถยนต์รุ่นใหม่ ๆ เข้ามาเปิดตัวไม่น้อยกว่า 20 รุ่น แต่มียอดขายรถเพียง 26,846 คัน (มีบางยี่ห้อไม่ส่งยอดขาย) และรถจักรยานยนต์ 2,155 (มีบางยี่ห้อไม่ส่งยอดขายเช่นกัน) ซึ่งห่างจากเป้า 5 หมื่นคันที่ตั้งไว้พอสมควร แม้จะเหลือเวลาอีก 4 วันก็ตาม ทั้งนี้แบรนด์ญี่ปุ่นโดยเฉพาะรถยนต์ในกลุ่มไฮบริดกลับได้รับความนิยมดีมาก ทั้งโตโยต้า-ฮอนด้า-นิสสัน-มิตซูฯ-ซูซูกิ

นายโนริอากิ ยามาชิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวอย่างมั่นใจว่า รถยนต์ไฮบริดของโตโยต้าตอนนี้มีให้เลือกเกือบครบทุกรุ่น และอนาคตจะปูพรมให้ครบหมดทั้งเก๋งและปิกอัพ โตโยต้ามั่นใจว่ารถไฮบริดมีความได้เปรียบ อย่างแรกไม่ต้องพึ่งระบบสาธารณูปโภค และถ้าเปรียบเทียบตลอดการใช้งานก็น่าจะประหยัดกว่า ที่สำคัญสามารถลดอัตราการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้ทันที

“เรายังเชื่อว่าตลาดรถไฮบริดในประเทศไทยยังเป็นตลาดที่มีความสำคัญ จากสัดส่วนยอดขายรถ EV ในประเทศไทยที่มีแค่ 10% ในขณะที่รถไฮบริดมีสัดส่วนสูงกว่าอยู่ที่ 12% และน่าจะขยายตัวออกไปได้อีกมากหลังจากทุกค่ายนำเสนอทางเลือกให้ลูกค้า”

นายยามาชิตะกล่าวว่า ส่วนยอดขายรถไฮบริดของโตโยต้าเมื่อปีที่แล้ว ทำได้ประมาณ 31,000 คัน คิดเป็น 30% ของตลาดไฮบริดโดยรวมในประเทศไทย โดยโตโยต้าได้มีการแนะนำ “ยาริส ครอส” ที่เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อปลายปี 2566 ซึ่งได้เสียงตอบรับจากตลาดดีมาก ๆ และหากดูจากยอดขายรถไฮบริดในประเทศไทยเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สัดส่วนทางตลาดที่โตโยต้าทําได้สูงกว่า 40% ถือเป็นคำตอบที่ดีมาก

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า กลุ่มรถไฮบริดตอนนี้ถือเป็นทางออกของค่ายรถสันดาปโดยเฉพาะญี่ปุ่น ซึ่งแทบทุกค่ายมีกันครบ ฮอนด้า มีไฮบริดครบทุกรุ่น ตั้งแต่ ซิตี้, ซีวิค, เอชอาร์-วี, ซีอาร์-วี ขณะที่นิสสันมีนิสสันคิกส์ เป็นหัวหอก, ส่วนมิตซูบิชิมี เอ็กซ์แพนเดอร์ ไฮบริด ที่เพิ่งเปิดไปเมื่อเร็ว ๆ นี้ กำลังได้รับความนิยมในกลุ่มครอบครัว ไม่ต่างจากซูซูกิ ที่เปิดตัว XL7 Hybrid ในงานมอเตอร์โชว์ครั้งนี้

นายวัลลภ ตรีฤกษ์งาม รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท ซูซูกิ มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า วันนี้ซูซูกิมี SUZUKI XL7 Hybrid เป็นส่วนหนึ่งที่ตอบโจทย์ความต้องการลูกค้า ซึ่งคนที่มีกำลังสามารถใช้รถยนต์ไฟฟ้าอาจไม่มองรถใช้น้ำมัน แต่ถ้าคนที่ยังไม่พร้อมก็ต้องเลือกใช้รถน้ำมัน ซึ่งจุดขายของซูซูกิ คือ ค่าบำรุงรักษาถูก ปรัชญาของซูซูกิ คือ ราคาที่เข้าถึงได้ง่ายในทุก ๆ รุ่น ไม่ว่าจะเป็นรุ่น SWIFT, ERTIGA, CARRY

ขณะที่นายพงษ์ศักดิ์ เลิศฤดีวัฒนวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็มจีเซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด เชื่อว่าตลาดรถยนต์ในกลุ่มไฮบริดยังได้รับความสนใจและจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยผู้บริโภคมองเรื่องความสะดวกสบายในการใช้งาน และไม่พร้อมใช้รถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งเอ็มจีมีสินค้าหลากหลายไว้ครอบคลุมความต้องการของลูกค้า ทั้งส่วนของเครื่องยนต์สันดาปภายใน, ไฮบริด, ปลั๊ก-อิน ไฮบริด และ EV และเร็ว ๆ นี้ เอ็มจีจะมี MG3 ไฮบริด เข้ามาเสริมตลาดอีก 1 รุ่น

สงครามราคาทำ EV สะดุด

นายณรงค์ สีตลายน กรรมการผู้จัดการ เกรท วอลล์ มอเตอร์ (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า สถานการณ์ตลาดรถยนต์ในช่วงไตรมาสแรก เหมือนปลาช็อกน้ำ สงครามราคาทำตลาดสะดุด วันนี้กลายเป็นว่าหลายคนด้อยค่าสินค้าจากจีน แต่เกรท วอลล์ฯ เราไม่มีนโยบาย ยังใช้นโยบายราคาเดียวมาตั้งแต่วันแรกที่เข้ามาดำเนินธุรกิจในประเทศไทย ทำให้ลูกค้าและดีลเลอร์เกิดความมั่นใจ และหากมีการทำแคมเปญ ราคาขายที่จะแรง ก็ต้องเป็นนโยบายกลาง ส่วนราคาที่ถูกลงจากเดิมก็เป็นเพราะมีรถ EV ที่ผลิตในประเทศ

ผู้สื่อข่าวสำรวจยอดขายรถ EV ในงานมอเตอร์โชว์ แม้แต่ละค่ายจะพยายามทุบราคาลงมา แต่ยอดจองรถในงานก็ยังไม่เป็นไปตามเป้า เช่น AION Y Plus 490 ปรับลดราคาลงมาเป็นครั้งที่ 4 ล่าสุดขายที่ 949,900 บาท จากก่อนหน้าขายที่ล้านกว่าบาท Deepal ทำรุ่นที่มีแบตเตอรี่เล็กลงขายราคาถูกลง 90,000 บาท

ขณะที่ BYD อัดโปรโมชั่นพิเศษ BYD ATTO 3 รับส่วนลดเงินสด 200,000 บาท เหลือเพียง 899,900 บาท (จากราคาปกติ 1,099,900 บาท) BYD DOLPHIN รับส่วนลดเงินสด 60,099 บาท, BYD SEAL รุ่น Dynamic รับส่วนลดเงินสด 126,000 บาท เหลือเพียง 1,199,000 บาท (จากราคาปกติ 1,325,999 บาท) พร้อมสิทธิพิเศษดูแลรถมูลค่ารวมกว่า 361,000 บาท

“งานมอเตอร์โชว์เที่ยวนี้ซึ่งยังเหลืออีก 4 วัน อาจจะต้องจับตามองว่าตำแหน่งแชมป์ทำยอดจองรถ EV สูงสุดในงานอาจมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ จากเดิมที่ BYD ทำยอดจองสูงสุดในงานมอเตอร์เอ็กซ์โป ปลายปี 2566 ที่ผ่านมา”

ด้านนายประธานวงศ์ พรประภา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เรเว่ ออโตโมทีฟ จำกัด ผู้จัดจำหน่ายและให้บริการหลังการขายรถยนต์พลังงานไฟฟ้า บีวายดี (BYD) อย่างเป็นทางการในประเทศไทย ภายใต้กลุ่มธุรกิจเรเว่ กล่าวว่า นอกจาก BYD จำหน่ายรถ EV แล้ว ยังเตรียมแนะนำรถยนต์ปลั๊ก-อิน ไฮบริด ออกสู่ตลาดประเทศไทย คือ BYD SEAL U DM-I รถเอสยูวี โดยเริ่มรับจองในงานมอเตอร์โชว์ และคาดว่าจะเริ่มส่งมอบรถรุ่นนี้ได้ช่วงเดือนธันวาคมปีนี้

สำหรับรถรุ่นนี้ BYD มีแผนที่จะขึ้นไลน์ผลิตในประเทศไทยด้วย โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อม และรุ่นนี้จะเป็นรุ่นที่ 2 ที่ BYD ผลิตจากโรงงานประเทศไทย ต่อจาก BYD DOLPHIN

“สำหรับตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในช่วงที่ผ่านมาอยู่ในภาวะชะลอตัวหลังจากหมดมาตรการ EV3.0 ซึ่งใช้เวลามาแล้ว 2-3 เดือนแล้วสำหรับการเข้า EV 3.5 แต่ BYD เชื่อว่าหลังจากจบงานมอเตอร์โชว์ 2024 จะเป็นการเซตอัพตลาดรถ EV ใหม่ โดยเฉพาะการเเข่งขัน และการลดราคาขายของผู้ประกอบการบางราย”

สภาอุตฯเชื่อ EV ยังวิ่งต่อ

นายสุวัชร์ ศุภกาญจน์เดชากุล นายกสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย เปิดเผยถึงแนวโน้มของตลาดรถ EV ในประเทศไทยว่า ยังคงมีแนวโน้มที่ดี ยอดจดทะเบียนรวมจะถึง 100,000-120,000 คัน โดยการเติบโตส่วนใหญ่จะเป็นการเติบโตในตลาดรถยนต์นั่งเป็นหลัก ส่วนการบังคับใช้มาตรฐานมลพิษระดับยูโร 5 ทั้งรถยนต์และน้ำมันตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป จะส่งผลให้ราคารถยนต์และน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น ยังต้องจับตา

ผู้สื่อข่าวยังได้รายงานยอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้า ในเดือนมีนาคม 2567 ที่ผ่านมา ของกรมการขนส่งทางบก ตามการจดทะเบียน รย.1 พบว่ามีจำนวนทั้งสิ้นรวม 5,001 คัน คิดเป็นสัดส่วน 10.6% ยอดจดทะเบียนรถยนต์ใหม่ของประเทศ 47,186 คัน

ตลาด EV ทั่วโลกชะลอตัว

KKP Research โดยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ระบุว่า การเปลี่ยนผ่านของตลาดรถยนต์ทั่วโลกยังคงมีความไม่แน่นอนสูง โดยปัจจุบันยอดขายรถ EV เริ่มชะลอตัวลงทั่วโลก แต่ยอดขาย “รถยนต์ไฮบริด” กลับขยายตัวได้มากขึ้น สาเหตุหลักมาจากข้อจำกัดหลายด้าน ทั้งความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ และความไม่แน่นอนของเทคโนโลยี ทำให้ยังไม่สามารถชี้ชัดได้ว่าใครจะเป็นผู้นำตลาดรถยนต์ยุคใหม่ที่แท้จริง และอาจช่วยยืดเวลาสำหรับรถยนต์สันดาปภายในได้อีกระยะหนึ่ง

นอกจากนี้ มีความเป็นไปได้สูงว่าค่ายรถจีนจะเข้ามาลงทุนในไทยต่อเนื่อง เพื่อดันไทยเป็นหนึ่งในฐานการส่งออก หากการกีดกันสินค้าจากสหรัฐอเมริกาและประเทศตะวันตกรุนแรงมากขึ้น ซึ่งถือเป็นโอกาสที่อาจเอื้อให้เกิดการโอนถ่ายความรู้เทคโนโลยีให้กับไทยได้

อย่างไรก็ตาม นโยบายสนับสนุน EV ในปัจจุบันเอื้อต่อการเน้นการนำเข้าชิ้นส่วนเข้ามาประกอบภายในประเทศมากกว่า ส่งผลให้มูลค่าเพิ่มที่ไทยได้รับจากการผลิต EV ลดลงมากกว่าครึ่ง เมื่อเทียบกับการผลิตรถยนต์สันดาปภายใน ภาครัฐจึงควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพด้านเทคโนโลยีของผู้ประกอบการไทยอย่างเร่งด่วน และอนาคตหากต้องการที่จะรักษาความเป็นผู้นำในภาคยานยนต์ไว้ และอาจจำเป็นต้องมีการทบทวนมาตรการด้านการให้เงินอุดหนุน EV เพื่อลดการบิดเบือนโครงสร้างและราคาในตลาดรถยนต์

รวมถึงการเพิ่มความเข้มงวดในการกำหนดและตรวจวัดสัดส่วนการใช้วัตถุดิบภายในประเทศ (Local Content Ratio) เพื่อซื้อเวลาในระยะสั้น และสนับสนุนอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ไทยให้ยังคงได้รับประโยชน์และมีเวลาปรับตัวรับมือกับการเปลี่ยนแปลงนี้ได้ในระยะยาว

EV จีนกินแชร์รถนั่ง 17%

KKP Research ประเมินว่า อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนของไทยกำลังเผชิญกับจุดเปลี่ยนสำคัญ เมื่อรถยนต์ไฟฟ้า (EV) กำลังครองยอดขายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องมากถึง 7 หมื่นคัน หรือคิดเป็น 9% ของยอดขายรถยนต์ใหม่ทั้งหมด หรือสูงถึง 17% ของยอดขายรถยนต์นั่งส่วนบุคคล ส่งผลให้ตลาด EV ไทยก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในตลาดที่โดดเด่นของโลก

อย่างไรก็ดี การเติบโตอย่างก้าวกระโดดของกระแส EV ได้เพิ่มความเสี่ยงต่ออุตสาหกรรมยานยนต์สันดาปภายใน (ICE) ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักของไทย ส่งผลให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยในช่วงที่ผ่านมาได้รับผลกระทบทั้งในมิติของการผลิตที่ชะลอตัวลง และราคารถยนต์มือสองที่ปรับราคาลงอย่างรุนแรง จากการที่รถยนต์ค่ายญี่ปุ่นเองก็จำเป็นต้องปรับราคาลงเพื่อแข่งขันกับค่ายจีน

นอกจากนี้ KKP Research มองว่า การเข้ามาของ “EV” จากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมยานยนต์ ไม่ใช่สาเหตุหลักเพียงอย่างเดียวของการเปลี่ยนแปลงที่จะกระทบต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ไทย แต่สาเหตุที่สำคัญกว่าคือ การรุกคืบในการชิงส่วนแบ่งตลาดรถยนต์ของผู้ประกอบการจากประเทศจีนที่มีกำลังการผลิตส่วนเกิน และมีความสามารถในการตัดราคา ซึ่งผลักดันให้ยานยนต์จีนมีบทบาทเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในเวทีโลก

และการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศจีนจะทวีความรุนแรงต่อเศรษฐกิจและยานยนต์ไทยมากขึ้น โดยผลกระทบจะไม่ได้จำกัดอยู่แค่กลุ่มที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจาก EV ในปัจจุบัน นั่นคือ ตลาดรถยนต์นั่งส่วนบุคคลภายในประเทศอีกต่อไป แต่จะขยายวงกว้างไปยังตลาดรถ “ปิกอัพ” ซึ่งเป็นหัวใจหลักของธุรกิจยานยนต์ไทยและตลาดส่งออกของไทยอีกด้วย

EV จีนกำลังผลิตส่วนเกินทะลัก

รายงานวิจัยระบุว่า จีนทะยานสู่การเป็นผู้นำส่งออกรถยนต์อันดับหนึ่งของโลก จากการได้รับการสนับสนุนโดยภาครัฐอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันประเทศจีนคาดว่ามีกำลังการผลิตรถยนต์มากกว่า 40 ล้านคันต่อปี ขณะที่มียอดตลาดในประเทศ 25 ล้านคัน ส่งออก 5 ล้านคัน ส่งผลให้ “กำลังการผลิตส่วนเกิน” เหลือกว่า 10 ล้านคันต่อปี

ขณะที่ยอดขายรถยนต์ในประเทศจีนมีแนวโน้มที่จะชะลอตัวลงต่อเนื่องตามภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่มีสัญญาณฟื้นตัว ซึ่งจะกดดันให้มีกำลังการผลิตส่วนเกินเพิ่มมากขึ้น ตลาดส่งออกจึงเป็นทางออกที่สำคัญในการระบายสต๊อก

อย่างไรก็ตาม จีนไม่สามารถส่งออกรถยนต์ไปทั่วโลกได้ง่ายนัก ท่ามกลางการแบ่งขั้วมหาอำนาจระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกา ที่ส่งผลให้มีการกีดกันสินค้าจากจีนรุนแรงมากขึ้น อีกทั้งยุโรปยังมีแนวโน้มที่จะเพิ่มภาษีการนำเข้ารถยนต์จีนมากขึ้น เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมยานยนต์ของยุโรป ซึ่งได้รับผลกระทบจากจีนอย่างหนัก

ส่งผลให้ภูมิภาคอาเซียนกลายเป็นเป้าหมายหลักสำคัญในการระบายรถยนต์จีน โดยเฉพาะประเทศไทยที่มีมาตรการให้เงินสนับสนุนการซื้อ EV และยังยกเว้นภาษีนำเข้ารถยนต์จีนผ่านสิทธิประโยชน์ทางภาษีจาก China-ASEAN FTA ซึ่งไทยเป็นเพียงไม่กี่ประเทศที่เปิดให้นำเข้ารถไฟฟ้า ส่งผลให้ไทยมีสัดส่วนยอดขาย EV เร่งขึ้นเร็วกว่าหลายประเทศ

รง.ผลิตรถและชิ้นส่วนเสี่ยงปิดตัว

รายงานของ KKP Research ระบุว่า สถานการณ์ปัจจุบันมีโอกาสสูงที่จะนำไปสู่การปิดโรงงานผลิตรถยนต์บางรายที่ไม่สามารถอยู่รอดได้ในสมรภูมิใหม่ หากภาครัฐปล่อยไปตามกลไกการแข่งขันในปัจจุบัน ค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นหลายค่ายได้เสียส่วนแบ่งตลาดในไทยให้กับ EV จีนมากกว่า 10% ภายในระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้สต๊อกรถยนต์สันดาปเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และกำลังการผลิตเริ่มปรับลดลง แต่โดยรวมยังไม่สามารถลดกำลังการผลิตได้มากนัก จากข้อจำกัดเรื่องต้นทุนคงที่ (Fixed Cost) ซึ่งมีขนาดใหญ่ ซึ่งส่งผลให้เกิดการแข่งขันด้านราคาเพื่อระบายสินค้าและกดดันอัตรากำไรของบริษัทยานยนต์ในประเทศ

อย่างไรก็ดี ค่ายรถยนต์บางรายอาจไม่สามารถสู้การตัดราคาขายแข่งได้ และมีแนวโน้มขาดทุน ซึ่งมีความเสี่ยงมากขึ้นที่จะเกิดการปิดตัวของโรงงานผลิตรถยนต์บางแห่ง คล้ายกับสถานการณ์ที่ค่ายรถญี่ปุ่นต้องเผชิญในประเทศจีน ซึ่งหากมีบริษัทจำเป็นต้องปิดตัวก็จะส่งผลเพิ่มเติมต่อการจ้างงานและเศรษฐกิจไทยในวงกว้างมากขึ้น

Adblock test (Why?)

อ่านบทความและอื่น ๆ ( ญี่ปุ่นพลิกเกม "ไฮบริด" แซง EV จีน โตโยต้านำโด่งมอเตอร์โชว์ - ประชาชาติธุรกิจ )
https://ift.tt/MuKmBPE
รถยนต์

Bagikan Berita Ini

0 Response to "ญี่ปุ่นพลิกเกม "ไฮบริด" แซง EV จีน โตโยต้านำโด่งมอเตอร์โชว์ - ประชาชาติธุรกิจ"

Post a Comment

Powered by Blogger.