ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าเติบโตต่อเนื่อง รับแนวคิด ESG ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี แนะ SME ปรับตัวต่อยอดธุรกิจรับเทรนด์ในอนาคต
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics ประเมินว่า การแข่งขันในตลาดรถยนต์ไฟฟ้า หรือ รถ EV ทั่วโลกมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น เพราะผู้ผลิตหลายรายปรับลดราคาขายลงเฉลี่ย 2-10% กระตุ้นให้คนหันมาสนใจรถยนต์ EV อย่างรวดเร็ว
สำหรับในประเทศไทยก็มียอดจดทะเบียนรถไฟฟ้าเพิ่มขึ้นถึง 17 เท่าภายในเวลาเพียง 3 ปี และคาดว่าในปี 2023 นี้ยอดจดทะเบียนรถยนต์นั่ง EV จะสูงถึง 40,812 คัน หรือเพิ่มขึ้น 322% ส่วนหนึ่งมาจากแรงสนับสนุนของภาครัฐที่ตั้งเป้าให้ไทยผลิตรถยนต์ EV ให้ได้ 30% ภายในปี 2030 หรือ 7 ปีข้างหน้า
ขณะที่สถานการณ์ของรถยนต์ EV ทั่วโลกก็เติบโตเช่นกัน BloombergNEF หน่วยงานวิจัยข้อมูลสำหรับอุตสาหกรรมพลังงาน คาดว่า ในปี 2026 รถยนต์ EV จะมีราคาเทียบเท่ารถยนต์สันดาป ด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้น การลดต้นทุนแบตเตอรี่ และการขยายกำลังการผลิตจนได้กำไรของกลุ่มผู้ผลิต จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนผ่านจากรถยนต์สันดาปสู่รถยนต์ไฟฟ้าแบบเต็มตัว
ทิศทางของอุตสาหกรรมยานยนต์ เมื่อรถไฟฟ้า หรือ รถอีวี เติบโต
การแข่งขันด้านราคาในตลาดรถยนต์ EV ที่รุนแรงขึ้น จะกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่กระทบตลาดรถยนต์ทั่วโลก โดยมีสาเหตุดังนี้
1. ความน่าสนใจในรถยนต์สันดาปลดลง ปัจจุบันรถยนต์ EV เป็นเหมือน เครื่องใช้ไฟฟ้าติดล้อ ซึ่งมีหัวใจหลักที่คล้ายคลึงกัน นั่นคือแบตเตอรี่ไฟฟ้า และเทคโนโลยี ในขณะที่รถสันดาป มีความโดดเด่นเฉพาะตัวแตกต่างไปตามแต่ละแบรนด์และประเภทของเครื่องยนต์ ซึ่งอาศัยการบำรุงรักษามากกว่า และด้วยการแข่งขันของผู้ผลิตที่รุนแรงขึ้น ทำให้ความน่าสนใจในแบรนด์รถดั้งเดิมที่ยังคงจำหน่ายรถยนต์สันดาปอาจลดน้อยลงไป
2. แบรนด์รถดั้งเดิมที่ปรับตัวได้ช้าอาจค่อยๆ หายไป เมื่อลูกค้ามองรถยนต์ EV ไม่ต่างอะไรจากสินค้าเทคโนโลยีที่มีการตกรุ่นไปตามยุคสมัย อาจทำให้รถรุ่นเก่ากว่ามีโอกาสตกรุ่นเร็วขึ้น เปรียบได้กับยุคที่เปลี่ยนผ่านจากมือถือ สู่สมาร์ทโฟนที่ทำให้เจ้าตลาดมือถือยักษ์ใหญ่ของโลกในรุ่นก่อนค่อยๆ หายไปจากตลาด และมาสู่ยุคที่เจ้าตลาดเป็นผู้ผลิตสมาร์ทโฟนแทน
3. ราคารถที่ปรับลงไม่เพียงกระทบตลาดรถมือหนึ่ง แต่ยังดึงราคารถมือสอง จากการทยอยเปิดตัวรถยนต์นั่งไฟฟ้ารุ่นใหม่ๆ ที่มีแนวโน้มจะขายถูกลง สร้างแรงกดดันอย่างมากต่อตลาดรถยนต์ในหลายกลุ่ม โดยเฉพาะตลาดรถหรู หรือแม้แต่ค่ายรถญี่ปุ่นและจีนในกลุ่มระดับ C และ D ที่มีราคาขายใกล้เคียงกัน จนทำให้ความต้องการรถยนต์นั่งมือสองเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
ทำไมแนวคิด ESG จึงผลักดันรถยนต์ EV ให้ยิ่งเติบโตเร็วขึ้น
เพราะทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย ทั้งภาครัฐและเอกชนได้มีการออกทั้งกฎหมายและนโยบาย เพื่อผลักดันเรื่อง ESG ให้เป็นวาระโลกและวาระแห่งชาติ อาทิ
- ประเทศไทยตั้งเป้าผลิตรถยนต์ EV ให้ได้ 30% ภายในปี 2030 ซึ่งเป็นปีที่ไทยมีเป้าหมายสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 40%
- กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกำลังร่าง พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแบบคาร์บอนต่ำ ตั้งเป้าหมายประเทศไทยจะเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2065
- หลายประเทศทั่วโลกมีข้อตกลงร่วมกันว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อร่วมกันรักษาอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส
- ค่ายรถยนต์ที่เคยผลิตรถยนต์สันดาปรายใหญ่ เริ่มประกาศวิสัยทัศน์ที่จะขับเคลื่อนองค์กรด้วยแนวคิด ESG พร้อมตั้งเป้าหมายที่จะพัฒนานวัตกรรมยานยนต์ด้วยเทคโนโลยีอัจฉริยะให้เป็นระบบไฟฟ้า เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ ขับเคลื่อนโลกสู่สังคมไร้มลพิษ ไร้อุบัติเหตุ และส่งเสริมการสร้าง Smart ecosystem รวมไปถึงค่ายรถยนต์อีกหลายๆ ค่ายที่ตั้งวิสัยทัศน์ด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น
โดยรถยนต์ไฟฟ้า เข้ามาตอบโจทย์กระแสดังกล่าวครบถ้วนทั้งกระบวนการผลิตและการใช้งาน โดยจะช่วยลดคาร์บอนไดออกไซด์เทียบกับรถยนต์สันดาปได้กว่า 40% ทำให้การเติบโตเฉลี่ยต่อปีของรถยนต์ EV อยู่ในระดับมากกว่า 30% ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา และมีแนวโน้มที่จะเติบโตในระดับสูงเมื่อเทคโนโลยีพัฒนาขึ้น และการขยายกำลังการผลิตจนได้กำไร
อุตสาหกรรมยานยนต์กำลังเปลี่ยนแปลง ผู้ประกอบการจึงต้องเร่งปรับตัว
จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นได้ว่า เรากำลังเปลี่ยนไปสู่ยุคที่ ESG เข้ามามีบทบาท และยังเป็นส่วนหนึ่งที่กระตุ้น รถยนต์ EV เติบโตอย่างรวดเร็ว จนอาจเป็นไปได้ที่เข้ามาแทนรถยนต์สันดาปในที่สุด ดังนั้นผู้ประกอบการจึงควรจะเร่งหาโอกาสใหม่ โดย finbiz by ttb ได้วิเคราะห์ถึงกลุ่มธุรกิจที่จะอาจหาโอกาสใหม่ๆ ได้ ดังนี้
1. ผลิตชิ้นส่วนประกอบยานยนต์ โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SME ที่ผลิตเฉพาะชิ้นส่วนประกอบที่ใช้กับระบบสันดาป เช่น เครื่องยนต์ ลูกสูบ หัวเทียน หม้อน้ำ ท่อไอเสีย ถังน้ำมัน เป็นต้น อาจต้องเริ่มต้นหาช่องทางใหม่ๆ หรือ หากปัจจุบันผลิตได้แต่ในส่วนรถระบบสันดาป ก็ต้องมีการปรับเทคโนโลยี สายการผลิต หรือหาคู่ค้าเพิ่ม พัฒนาทักษะพนักงาน เพื่อให้ทันการเปลี่ยนแปลงในวันที่รถยนต์ EV จะเข้ามามีส่วนแบ่งทางตลาดแทนรถยนต์ในระบบที่ใช้พลังงานเชื้อเพลิงมากขึ้นเรื่อยๆ
2. ผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้า สำหรับผู้ประกอบการ SME ที่ผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์เกี่ยวกับพลังงานไฟฟ้า เช่น แบตเตอรี่ สายไฟ มอเตอร์ต่างๆ ก็มีช่องทางโอกาสที่จะต่อยอดจากกิจการเดิมพัฒนาเพิ่มเติมไปสู่การผลิตอุปกรณ์ที่รองรับการใช้งานของรถยนต์ EV ได้
3. สถานีบริการน้ำมัน จะเริ่มเห็นโอกาสในรูปแบบใหม่ เช่น การเพิ่มเติมจุดบริการชาร์จรถยนต์ EV ซึ่งการชาร์จไฟฟ้าแต่ละครั้งใช้เวลาพอสมควร ทำให้เห็นโอกาสของธุรกิจอื่นๆ ที่สามารถอยู่ในสถานีบริการน้ำมันเดิมได้ ไม่ว่าจะเป็นการให้เช่าพื้นที่เพื่อทำร้านอาหาร หรือกิจการอื่นๆ
4. ตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ สามารถใช้กลยุทธ์ทางการตลาดกระตุ้นความสนใจจากช่วงเวลาที่ผู้คนสนใจในเทคโนโลยี และยังใส่ใจเรื่องราวของ ESG มากระตุ้นให้ รถยนต์ EV มีความน่าสนใจมากขึ้น ช่วยในการตัดสินใจซื้อรถได้อย่างรวดเร็วขึ้น พร้อมสร้างความรู้สึกการได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน สร้างโอกาสในการเพิ่มยอดขายในระยะนี้ โดยผู้ประกอบการต้องเร่งสร้างความพร้อมของศูนย์บริการหลังการขายสำหรับรถประเภทนี้ให้มากขึ้น
นอกจากนี้ยังอาจมีโอกาสอื่นๆ จากแนวคิดการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน โดยยึดหลัก ESG ที่ผู้ประกอบการจะสามารถพลิกช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้มาเป็นโอกาสได้ เพราะอย่างไรก็ตามทุกองค์กรล้วนต้องขยับไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนทั้งสิ้น
https://ift.tt/y3NAZqS
รถยนต์
Bagikan Berita Ini
0 Response to "ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าเติบโตต่อเนื่อง รับแนวคิด ESG แนะ SME ปรับตัวต่อยอดธุรกิจ - ไทยรัฐ"
Post a Comment