ตลาดรถยนต์บินได้ หรือ Flying Car รวมถึงพวกอากาศยานที่บินขึ้นลงในระยะสั้นที่เรียกว่า eVOLT ถือว่ายังอยู่ในหนึ่งของพาหนะสำหรับการเดินทางในอนาคตที่ยังไม่หลุดกรอบไปไหน แม้ว่าในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา กระแสของรถยนต์บินได้จะไม่ค่อยมีให้ติดตามมากเท่ากับความเคลื่อนไหวของตลาดรถยนต์ไฟฟ้า หรือรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ Autonomous ที่มักจะครอบครองพื้นที่หลักของหน้าสื่อได้อย่างสม่ำเสมอก็ตาม แต่ทว่าในอนาคตอันใกล้นี้ ยานพาหนะเหล่านี้จะมีบทบาทสำคัญและสามารถเข้าถึงความต้องการของคนได้มากขึ้นเรื่อย ๆ
คนเมืองอพยพ-ความต้องการเลยมากขึ้น
แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมา ตลาดรถยนต์ Flying Car และ eVOLT ยังค่อนข้างเงียบและผู้เล่นหลายรายแทบไร้ความเคลื่อนไหว แต่ต้องบอกว่าเทคโนโลยีการขับเคลื่อนประเภทนี้จะค่อยๆ เข้ามายึดครองและกลายเป็นความต้องการของคนในยุคหน้าได้อย่างแน่นอน
ตรงนี้มีการอ้างอิงถึงงานวิจัยของ ResearchAndMarkets.com ที่ได้ระบุถึงแนวโน้มของความต้องการในกลุ่ม Flying Car และอากาศยานอีกประเภทที่ถูกเรียกว่า eVOLT หรือ Electric Vertical Takeoff and Landing ว่ายังมีความแจ่มใส และอาจจะกลายมาเป็นผู้เล่นที่เข้ามาช่วยเสริมการเดินทางของมนุษย์ในยุค 1-2 ทศวรรษข้างหน้า และอาจจะกลายเป็นผู้เล่นหลักได้หลังจากนั้น
เมื่อเปรียบเทียบกับกับผลผลิตพันธุ์แท้อย่างพวกรถยนต์และเครื่องบินแล้ว ในงานวิจัยชิ้นนี้ระบุว่า eVOLT มีความได้เปรียบในหลายอย่าง โดยเฉพาะเรื่องของมลพิษที่ต่ำ ต้นทุนที่ถูกกว่า การเดินทางจากจุดหนึ่งไปยังจุดหนึ่งที่มีพิสัยการบินไม่ได้และเพดานการบินไม่สูงที่ได้เปรียบในเรื่องของเวลา การพัฒนาแอปพลิเคชั่นที่มีความทันสมัยในการทำงานทั้งภาคพื้นดินและอากาศ ที่สำคัญคือ ความคล่องตัวที่เหนือกว่าโดยเฉพาะในเรื่องของการบินขึ้นหรือลงในแนวดิ่ง โดยตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ อากาศยานต้นแบบที่เรียกว่า EHang 2016 ที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าและขึ้น-ลงในแนวดิ่งที่ถูกนำมาใช้ในการเป็นพาหนะพยาบาลรับส่งคนป่วยช่วงที่ COVID-19 ระบาดเมื่อปีที่แล้ว
นอกจากนั้น เมื่อเข้าสู่ทศวรรษที่ 2030 มีการประเมินว่าผู้คนมากกว่า 60% ของประชากรในแต่ละประเทศ จะย้ายมาตั้งรกรากอยู่ในเมืองมากกว่าที่จะอยู่ตามริมขอบหรือตามชนบทอีกต่อไป ซึ่งตรงนี้จะส่งผลโดยตรงต่อการจราจรภาคพื้นดินที่จะต้องเจอกับความหนาแน่น และรถติดตามมา และนั่นทำให้พาหนะที่สามารถบินได้ระยะสั้นและมีความสะดวกสำหรับการใช้งานในเมืองอย่าง eVOLT และ Flying Car จะได้รับความนิยมมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง และอาจจะกลายเป็นยานพาหนะหลักของคนในยุคหน้าเลยก็ว่าได้
นักลงทุนชอบอะไรใหม่
ตัดภาพมาที่ส่วนหนึ่งของฉากในภาพยนตร์อย่าง A.I. หรือ The Fifth Element รวมถึง Back to the future ภาค 2 สิ่งที่เหมือนกันของภาพยนตร์ Sci-Fi เหล่านี้คือ ผู้คนที่อยู่ในเมืองในอนาคตจะเดินทางผ่านทางยานพาหนะแบบบินได้ และเมืองใหญ่จะเต็มไปด้วยผู้คน
ดังนั้นตรงนี้ถือว่าสอดคล้องกับงานวิจัยที่สะท้อนภาพในอีก 10 ปีข้างหน้าว่าเรากำลังจะเจอกับความเปลี่ยนแปลงเรื่องของการเดินทางอย่างแน่นอน อาจจะไม่ถึงกับฉับพลันแต่เกิดขึ้นแน่ ๆ และที่สำคัญคือ โครงการในอนาคตที่มีแนวโน้มและสัญญาณที่ดีในการเป็นเทรนด์ของคนในยุคหน้า มักจะได้รับการจับตามองและชื่นชอบของนักลงทุนเสมอ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่านักลงทุนเหล่านี้ล้วนแล้วแต่มีอิทธิพลต่อการแจ้งเกิดหรือดับของบรรดาเทรนด์เหล่านี้
Larry Page ซึ่งเป็น CEO ของ Alphabet บริษัทแม่ของ Google ก็คือหนึ่งในบรรดานักลงทุนที่มองเห็นศักยภาพและโอกาสเติบโตของ eVOLT และเป็นนายทุนให้กับ 3 บริษัทผู้ผลิต Flying Car อย่าง Zee Aero, Opener และ Kitty Hawk ซึ่งทาง Sebastian Thrun ที่ในอดีตเคยเป็นผู้ก่อตั้งหน่วยงาน Self-Driving ของ Google ก็ยังออกมานั่งเป็น CEO ที่ Kitty Hawk ด้วย
นอกจากนั้น บรรดาบริษัท Start-up ที่กลายเป็น Unicorn ในธุรกิจ Flying Car และ eVOLT มีอยู่ถึง 3 รายนั่นคือ Joby Aviation จากสหรัฐอเมริกา ตามด้วย Volocopter และ Lilium จากเยอรมนี แถมยังมีอีกหลายรายที่รอคิวขึ้นเป็นบริษัทที่ประสบความสำเร็จ โดยในส่วนของ Jody Aviation ชั้นนั้นต้องบอกว่าเนื้อหอมสุดๆ เพราะสามารถระดมทุนได้มากถึง 820 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และมีบรรดานักลงทุนชื่อคุ้นๆ ทั้ง Geely, Daimler, DB Schenker และ Intel Capital ที่เข้ามาเป็นนักลงทุนอยู่ในบริษัท Start-Up แห่งนี้
ต้องบอกว่าส่วนใหญ่แล้วบริษัทที่ผลิต Flying Car จะอยู่ในสหรัฐอเมริกา ด้วยสัดส่วนที่มากถึง 50% ขณะที่จีนก็ถือว่าไม่ได้ด้อยไปกว่ากัน โดยทุกบริษัทต่างวางเป้าหมายว่าภายในปี 2025 พวกเขาจะต้องสามารถผลิต Flying Car ออกขายในตลาดให้ได้ โดยตอนนี้มีโปรเจ็กต์ Flying Car 5 รายด้วยกันที่รอผลิตในเชิงพาณิชย์ ขณะที่ 38% ของผลผลิตนั้นจะใช้ระบบขับเคลื่อนแบบอัตโนมัติ
ชื่อคุ้นหูก็ไม่ปล่อยให้โอกาสหลุดลอย
จะว่าไปแล้วอุตสาหกรรม Flying Car ก็ไม่ต่างจากอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่กำลังโดน Disrupt จากสิ่งที่ใหม่กว่า และในบรรดานี้บริษัทที่ชื่อคุ้นหูพวกเราไม่ว่าจะอยู่ในกลุ่มการบินหรือกลุ่มรถยนต์ต่างก็ยังไม่ยอมแพ้ในสมรภูมินี้ให้กับบรรดาบริษัท Start-Up ทั้งหลาย
Boeing และ Airbus อาจจะมี Know How มากมายเกี่ยวกับการผลิตเครื่องบิน แต่สำหรับ Flying Car และeVOLT อาจจะเป็นสิ่งที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงในแง่ของวิศวกรรม แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า พวกเขาจะไม่มีองค์ความรู้เอาเสียเลย โดยทั้งคู่ต่างก็มีโปรเจ็กต์ในการพัฒนา Flying Car และ eVOLT ออกมาด้วยเช่นกัน
ขณะที่บางรายที่แม้ว่าจะไม่มีองค์ความรู้แต่มีเงินทุนก็ใช้วิธีร่วมลงทุนหรือไม่ก็เทคโอเวอร์กิจการเลย เหมือนอย่างที่ Geely เข้าเทคโอเวอร์กิจการของ Terrafugia บริษัท Flying Car ที่เป็น Start-up ชื่อดังของอเมริกา เช่นเดียวกับการลงทุนใน Volocopter ที่เป็นบริษัทเยอรมนีเพื่อพัฒนา Flying Taxi ในการเปิดเกมรุกหวังครองตลาดระบบขนส่งสาธารณะ
ขณะเดียวกัน กลุ่มบริษัทรถยนต์นั้น นอกจากการเข้าร่วมลงทุนของ Daimler แล้ว หลายรายก็มีโปรเจ็กต์ในการพัฒนา Flying Car ของตัวเอง เช่น Audi และบริษัทแม่อย่าง Volkswagen ก็ประกาศจุดยืนชัดเจนในการพัฒนา Flying Car ออกมา และแน่นอนว่าพวกเขามองเอาไว้ทั้งกลุ่มการใช้งานส่วนบุคคลและการใช้งานเชิงสาธารณะ ซึ่งทาง Morgan Stanley เคยวิเคราะห์เอาไว้ว่าถ้าตลาดมีการเติบโตจริงอย่างที่ควรจะเป็น ตลาด Flying Taxi ปี 2040 จะมีมูลค่าสูงถึง 1.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เลยทีเดียว เรียกว่าเป็นดินแดนใหม่สด ที่ใครมาก่อนมีโอกาสได้ช่วงชิงก่อน
ส่วน Hyundai ถือว่าเป็นแบรนด์จากโลกตะวันออกที่ค่อนข้างจริงจังกับเรื่องนี้ และแน่นอนว่าพวกเขาไม่ยอมตกขบวน เพราะทาง Michael Cole ซึ่งเป็น CEO ของ Hyundai ส่วนปฏิบัติการในยุโรปกล่าวยืนยันว่า ‘จะผลิตรถยนต์บินได้ออกมาสู่ตลาดภายในปี 2030’ และหวังว่าการเป็นผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่อันดับ 5 ของโลกบวกกับบริษัทในเครือที่มีองค์ความรู้มากมาย จะช่วยผลักดันให้ฝันนี้เป็นจริงขึ้นมาได้
หรือแม้แต่ Toyota เองก็เพิ่งประสบความสำเร็จขั้นต้นในการทดลองอากาศยานแบบ eVOLT ผ่านทางบริษัทตัวแทนอย่าง Skydrive ในการขึ้นและลงในแนวดิ่ง และคาดหวังว่าจะเป็นบันไดขั้นแรกในการเดินหน้าสู่ตลาดกลุ่มนี้
แน่นอนว่าช่วงทศวรรษหน้า การแข่งขันและการแย่งชิงในกลุ่มอุตสาหกรรมรถยนต์คงไม่ได้มีแค่การเดินทางภาคพื้นดินเท่านั้น เพราะว่าตอนนี้ สมรภูมิใหม่ที่อยู่บนท้องฟ้าได้เปิดออกแล้ว และถือเป็นสังเวียนใหม่ที่ไม่มีผู้นำตัวจริง ดังนั้น ใครมาก่อนโอกาสที่จะเป็นเจ้าครองตลาดก่อนย่อมมีมาก และไม่จำเป็นจะต้องเป็นบริษัทชื่อดังที่เราคุ้นหูกันมานานก็ได้
https://ift.tt/3ev83BS
รถยนต์
Bagikan Berita Ini
0 Response to "ท้องฟ้าเปิดเพื่อเป็นสมรภูมิแห่งใหม่ “รถบินได้” - ผู้จัดการออนไลน์"
Post a Comment