จะเกิดอะไรขึ้นกับตลาดรถยนต์ไทย? หลังยอดปฏิเสธสินเชื่อรถยนต์สูงเป็นประวัติการณ์ สะท้อนว่าคนกู้ซื้อรถไม่ได้ ด้านสมาคมลีสซิ่งไทยคาดภาพรวมยอด Rejection Rate ทั้งปีอาจแตะ 40% ท่ามกลางภาวะที่คนแห่จำนำทะเบียนรถเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หวั่นยอดขายรถยนต์ในไทยปีนี้ร่วง หลังติดลบ 11 เดือนติดแล้ว
วันที่ 17 มิถุนายน บุญหนา จงถิ่นสุวรรณ นายกสมาคมผู้เช่าซื้อไทย ให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD WEALTH ว่า ข้อมูลยอดปฏิเสธสินเชื่อ (Rejection Rate) ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2567 พบว่าพุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ทั้งในกลุ่มสินเชื่อรถยนต์ใหม่เพิ่มเป็น 20% จากช่วงเดียวปีก่อนอยู่ที่ 15% ส่วนสินเชื่อรถยนต์มือสองมี Rejection Rate เพิ่มเป็น 30% จาก 20% ซึ่งมีผู้ประกอบการบางรายมียอด Rejection Rate พุ่งขึ้นไปถึงประมาณ 40-50% ซึ่งประเมินว่าในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้มียอด Rejection Rate คิดเป็นมูลค่ารวมราว 7-8 หมื่นล้านบาท
เปิดสาเหตุ ทำไมยอดปฏิเสธพุ่ง
สำหรับสาเหตุของยอด Rejection Rate ที่เพิ่มสูงขึ้น บุญหนามองว่ามาจากปัจจัยสำคัญของหลักเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ออกมาควบคุมธนาคารพาณิชย์ ส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์มีการพิจารณากลั่นกรองเข้มงวดมากขึ้นถึงความสามารถในการผ่อนชำระคืนของผู้ยื่นขอกู้
ขณะที่ผู้ประกอบการลีสซิ่งที่เป็นกลุ่ม Non-Bank ตั้งแต่ในปี 2566 ต่อเนื่องถึงปี 2567 มีความระมัดระวังมากขึ้นในการพิจารณาปล่อยสินเชื่อรถยนต์ เนื่องจากได้รับผลกระทบตั้งแต่ปี 2566 ที่มีกระแสข่าวว่ามีการรณรงค์ในโซเชียลมีเดียในการ ‘คืนรถ จบหนี้’ เพิ่มมากขึ้นอย่างมาก เพราะจากคำพิพากษาของศาลฯ ที่ออกมาสามารถทำได้ ส่งผลให้ปี 2566 ผู้ประกอบการลีสซิ่งต้องแบกรับผลขาดทุนจำนวนมาก ประกอบกับปีนี้ผู้ประกอบการลีสซิ่งกลุ่ม Non-Bank เองก็มีความเข้มงวดอย่างมากในการพิจารณาปล่อยสินเชื่อรถยนต์ ซึ่งจะดู 2 ประเด็น คือ 1. ความสามารถในการคืนหนี้ของผู้กู้ และ 2. ความต้องการนำรถไปใช้จริง และความจำเป็นในการใช้รถยนต์มาใช้พิจารณาร่วมด้วย จึงสะท้อนไปยัง Rejection Rate ที่สูงขึ้น
“การคืนรถ จบหนี้ เป็นประเด็นที่ผู้ประกอบการลีสซิ่งกลัวมากที่สุด ส่งผลให้ตัวเลข Rejection Rate พุ่งขึ้นนิวไฮ ซึ่งคนภายนอกไม่ค่อยรู้ จึงคิดไปว่าเศรษฐกิจไม่ดีทำให้คนไม่ซื้อรถ แต่จริงๆ แล้วคนยังต้องการซื้อรถเหมือนเดิม ปัญหาที่เกิดขึ้นทำเราให้ต้องมีการ Revise สัญญาเช่าซื้อใหม่ทั้งหมด เปลี่ยนวิธีและรูปแบบระบบการดำเนินคดีใหม่ทั้งหมดในกรณีที่ลูกค้าทำผิดสัญญา เพื่อป้องกันและแก้ปัญหาการซื้อรถไปแล้วนำรถมาคืนเพื่อจบหนี้”
คาดยอดปฏิเสธทั้งปี ‘นิวไฮ’ ยอดขายรถทั้งปีจ่อ ‘ติดลบ’
โดยบุญหนาคาดว่า ภาพรวมยอด Rejection Rate ทั้งปีนี้อาจอยู่ที่ระดับ 30-40% หรือน่าจะทรงตัวอยู่ในระดับใกล้เคียงกับ 4 เดือนแรกของปีนี้ ส่งผลให้ทั้งปี 2567 จะมียอด Rejection Rate สินเชื่อรถยนต์ออกมาสูงสุดเป็นประวัติการณ์หรือนิวไฮด้วยเช่นกัน
บุญหนากล่าวต่อว่า สมาคมผู้เช่าซื้อไทยประเมินยอดขายรถยนต์ใหม่ในทั้งปี 2567 จะอยู่ที่ประมาณ 725,000 คัน ลดลงจากปีก่อนประมาณ 6.5% ที่มียอดขายประมาณ 770,000 คัน เนื่องจากผลกระทบของ Rejection Rate ที่เพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ดี ประเมินว่าในปี 2567 จะเป็นปีที่เป็นจุดต่ำสุดของธุรกิจลีสซิ่งรถยนต์ ซึ่งคาดว่ามีโอกาสที่จะเริ่มเห็นการฟื้นตัวที่ดีขึ้นตั้งแต่ช่วงกลางปีนี้เป็นต้นไปตามภาพรวมเศรษฐกิจที่เริ่มตัวดีขึ้น หลังจากเริ่มมีเม็ดเงินงบประมาณรายจ่ายเริ่มเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ อีกทั้งในปี 2568 มีโอกาสที่โมเมนตัมของตลาดขายรถยนต์จะดีขึ้น โดยมีโอกาสที่ยอดขายจะทยอยดีขึ้นไปสู่ระดับประมาณ 770,000 คัน หรือเติบโตประมาณ 5% ส่วนหนึ่งยังมีดีมานด์ของรถยนต์ EV ที่มีโอกาสเติบโตขึ้นด้วย เพราะในช่วงปลายปี 2567 จะมีปัจจัยบวกของแบตเตอรี่โซลิดสเตต (Solid-State Battery) จะเริ่มถูกนำมาใช้ ส่งผลให้แบตเตอรี่ชาร์จได้เร็วและวิ่งได้นานขึ้น จะทำให้มีดีมานด์รถ EV เพื่อมาใช้รถยนต์สันดาปด้วย อีกทั้งประเมินว่ายอด Rejection Rate ในปี 2568 จะลดลงมาสู่ระดับ 15-20%
แบงก์ชาติเรียกตัวแทนอุตสาหกรรม-ค่ายรถ-เช่าซื้อ ‘หารือ’
สำหรับในวันที่ 17 มิถุนายน แหล่งข่าวเปิดเผยว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นัดหารือกับภาคเอกชนต่างๆ เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมยานยนต์ เข้าไปให้ข้อมูลสถานการณ์ที่แท้จริงจาก ทั้งสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, สมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย, สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย, สมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทย รวมถึงค่ายผู้ผลิตรถยนต์ ซึ่งถือเป็นภาคส่วน (Sector) ขนาดใหญ่มาก และมีผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจของไทย เพื่อนำไปประเมินต่อผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจไทย
“ตอนนี้มองว่าผู้ผลิตรถยนต์กับชิ้นส่วนของรถสันดาปกำลังเดือดร้อนจริง จากกระแสรถ EV ที่จะเข้ามาทดแทน แต่กลุ่มลีสซิ่งไม่ได้กระทบเท่าไร เพราะเราสามารถปล่อยสินเชื่อได้ทั้งรถน้ำมันกับรถEV”
สถานการณ์หนี้ ‘สินเชื่อรถยนต์’ ไทยเป็นอย่างไร?
ตามข้อมูลจากสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุว่า สถาบันการเงินเพิ่มความเข้มงวดในการพิจารณา ‘สินเชื่อยานยนต์’ เนื่องจากความกังวลต่อความเสี่ยงด้านเครดิตของผู้กู้และคุณภาพสินเชื่อ
โดยจะเห็นว่าสินเชื่อยานยนต์ ‘หดตัวมากที่สุด’ เมื่อเทียบกับสินเชื่อประเภทอื่นๆ โดยหดตัว -0.6% ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2566 (ข้อมูลล่าสุด) ขณะที่สินเชื่อส่วนใหญ่ยังขยายตัวได้
ขณะที่สัดส่วนสินเชื่อยานยนต์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือเป็นหนี้เสีย (NPL) ต่อสินเชื่อรวมก็ปรับตัวเพิ่มขึ้น 7 ไตรมาสติด อยู่ที่ 2.13% ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2566 ของสินเชื่อรวม
ไม่ใช่แค่ NPL เท่านั้น แต่หนี้ที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ (Special Mention Loan: SML) หรือหนี้ค้างชำระระหว่าง 1-3 เดือนส่วนใหญ่ก็ซุกอยู่ในสินเชื่อรถยนต์ โดยสินเชื่อรถยนต์ที่เป็น SML คิดเป็นสัดส่วนถึง 14.3% ของสินเชื่อทั้งหมด
นอกจากนี้ สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ยังเคยเปิดเผยว่า สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ (สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับประเภทที่มีทะเบียนรถยนต์เป็นประกัน) ขยายตัวสูงถึง 40.2% ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2566 (ข้อมูลล่าสุด) สะท้อนว่า คนกำลังขาดสภาพคล่องรุนแรง เนื่องจากสินเชื่อประเภทนี้เป็นสินเชื่อส่วนบุคคลที่อนุมัติเร็วและง่าย แต่มีอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าสินเชื่อประเภทอื่น สะท้อนว่าทะเบียนรถอาจเป็นทางเลือกสุดท้ายในการกู้ยืมเพื่อเติมสภาพคล่อง
วิเคราะห์ปรากฏการณ์ ‘คนกู้ซื้อรถไม่ได้ แห่จำนำเพิ่ม’ นำไปสู่อะไร?
ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD WEALTH โดยมองว่า ปรากฏการณ์ ‘คนกู้ซื้อรถไม่ได้ คนแห่จำนำเพิ่ม’ เป็นภาพสะท้อนของปัญหาที่แตกต่างกัน
โดยภาวะที่ยอดปฏิเสธสินเชื่อรถยนต์เพิ่มขึ้น เป็นผลมาจากหนี้ SML ของสินเชื่อรถยนต์เพิ่มขึ้น จึงเป็นเรื่องปกติที่ธนาคารหรือ Non-Bank จะคัดกรองลูกหนี้มากขึ้น นอกจากนี้อีกปัจจัยหนึ่งคือกฎระเบียบของธุรกิจเช่าซื้อรถก็มีความเข้มงวดมากขึ้น ทำให้มีความเสี่ยงต่อผลประกอบการมากขึ้น ขณะที่การจำนำทะเบียนรถเป็นภาพสะท้อนของปัญหาการขาดสภาพคล่องของครัวเรือน
อย่างไรก็ดี สองปรากฏการณ์นี้อาจส่งผลกระทบต่อตลาดรถยนต์ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม โดยยอดปฏิเสธสินเชื่อที่เพิ่มขึ้นอาจทำให้ผู้ผลิตขายรถยนต์ได้น้อยลง ขณะที่ผลกระทบที่เกิดจากยอดจำนำทะเบียนรถที่เพิ่มขึ้น ในกรณีที่ลูกหนี้ไม่สามารถหาเงินชำระหนี้ได้ จำนวนรถยนต์ที่จะไปอยู่ในตลาดมือสองก็อาจเพิ่มขึ้น และยอดยึดรถก็จะสูงขึ้น
เปิดสถิติยอดขายรถปี 2023-2024
จากการรวบรวมข้อมูลจากกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ตั้งแต่เดือนมกราคม 2023 ถึงเดือนเมษายน 2024 (ล่าสุด) พบว่า มีเพียงเดือนเดียวเท่านั้นที่ยอดขายรถยนต์ไทยเป็นบวกแบบ YoY นั่นคือเดือนพฤษภาคมที่ 65,088 คัน เพิ่มขึ้นเพียง 0.55%YoY
ปี 2023
- มกราคม: 65,579 คัน ลดลง 5.58%YoY
- กุมภาพันธ์: 71,551 คัน ลดลง 3.94%YoY
- มีนาคม: 79,943 คัน ลดลง 8.37%YoY
- เมษายน: 59,530 คัน ลดลง 6.14%YoY
- พฤษภาคม: 65,088 คัน เพิ่มขึ้น 0.55%YoY
- มิถุนายน: 64,440 คัน ลดลง 5.16%YoY
- กรกฎาคม: 58,419 คัน ลดลง 8.77%YoY
- สิงหาคม: 60,234 คัน ลดลง 11.69%YoY
- กันยายน: 62,086 คัน ลดลง 16.27%YoY
- ตุลาคม: 58,963 คัน ลดลง 8.75%YoY
- พฤศจิกายน: 61,621 คัน ลดลง 9.76%YoY
- ธันวาคม: 68,326 คัน ลดลง 17.48%YoY
ปี 2024
- มกราคม: 54,814 คัน ลดลง 16.42%YoY
- กุมภาพันธ์: 52,843 คัน ลดลง 26.15 %YoY
- มีนาคม: 56,099 คัน ลดลง 29.83 %YoY
- เมษายน: 46,738 คัน ลดลง 21.49 %YoY
https://ift.tt/8ibwamh
รถยนต์
Bagikan Berita Ini
0 Response to "ยอดปฏิเสธสินเชื่อรถยนต์สูงเป็นประวัติการณ์! 'คนกู้ซื้อรถไม่ได้ แห่จำนำเพิ่ม' เกิดอะไรขึ้นกับตลาดรถยนต์ไทย? - thestandard.co"
Post a Comment