Search

'ค่ายญี่ปุ่น 'ดิ้นสู้ตลาดรถไทย ยกแรกแพ้สงครามราคา ปิดโรงงาน 2 บริษัท - กรุงเทพธุรกิจ

อุตสาหกรรมยานยนต์ในไทยกำลังถึงจุดเปลี่ยนสำคัญ โดยมีปัจจัยสำคัญจากรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ที่เข้ามาทำตลาดในไทย และยอดขายเติบโตต่อเนื่อง ในขณะที่ตลาดในประเทศได้รับแรงกดดันจากปัญหาหนี้ครัวเรือน สินเชื่อรถไม่ได้รับการอนุมัติ และเศรษฐกิจที่ไม่ฟื้นตัว

ในช่วง 1 เดือน ที่ผ่านมา บริษัทรถยนต์ญี่ปุ่น 2 แห่ง ประกาศหยุดสายการผลิตรถยนต์ในไทย โดย บริษัท ซูซูกิ มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศปิดโรงงานภายในสิ้นปี 2568 เพราะมีปัญหายอดขาย และการเข้ามาทำตลาดของอีวีจีน

ทั้งนี้ หากย้อนกลับไปดูผลดำเนินงานของบริษัท ซูซูกิ มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ในช่วง 5 ปี ที่ผ่านมา (2562-2566) มีเพียงปี 2564 ที่มีผลดำเนินงานกำไร 131 ล้านบาท ขณะที่ผลดำเนินล่าสุดปี 2566 รายได้รวม 7,037 ล้านบาท รายจ่ายรวม 7,301 ล้านบาท และขาดทุน 264 ล้านบาท

ขณะที่บริษัท ตันจง ซูบารุ ออโตโมทีฟ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศหยุดการผลิตรถยนต์ในไทยภายในปี 2567 โดยจดทะเบียนธุรกิจในปี 2559 และผลดำเนินงานในช่วง 5 ปี ที่ผ่านมา (2561-2565) ขาดทุนต่อเนื่องทุกปี และนับได้ว่าตั้งแต่จดทะเบียนมีผลดำเนินงานขาดทุนทุกปี โดยในปี 2565 รายได้รวม 2,077 ล้านบาท รายจ่ายรวม 2,453 ล้านบาท ขาดทุน 377 ล้านบาท

นอกจากนี้ ในช่วงระยะเวลา 5 ปี จะมีค่ายรถยนต์จากประเทศญี่ปุ่นขยายการลงทุนเพิ่มเติมในประเทศไทยประมาณ 1.5 แสนล้านบาท ประกอบด้วย โตโยต้า 5 หมื่นล้านบาท , ฮอนด้า 5 หมื่นล้านบาท, อีซูซุ 3 หมื่นล้านบาท และมิตซูบิชิ 2 หมื่นล้านบาท

ฟางเส้นสุดท้าย อีวี-อีโค คาร์ 

แหล่งข่าววงการยานยนต์ ระบุว่า การประกาศหยุดการผลิตของซูบารุ และซูซูกิ เชื่อว่าไม่ได้เพิ่งตัดสินใจ แต่ผ่านกระบวนการคิดมานานแล้ว รวมถึงมีการวางแผนจัดการด้านทรัพย์สินของโรงงาน ก่อนจะประกาศเป็นทางการ

ทั้งนี้ มองว่าการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นจากหลายปัจจัยประกอบกัน ทั้งการแข่งขัน ภาวะตลาด รวมถึงการส่งออกที่เป็นสิ่งสำคัญของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยที่มีตลาดส่งออกมากกว่า 100 ประเทศ และมีขนาดตลาดใหญ่กว่าในประเทศ แต่ที่ผ่านมาตลาดส่งออกซูซูกิไม่ดีได้นัก เพราะตลาดเป้าหมายหดตัว โดยปี 2566 ซูซูกิมียอดส่งออกแค่ 1,272 คัน ถือว่าน้อยมาก 

รวมทั้งเมื่อรวมกับผลกระทบจากอีวี และที่สำคัญคือ การที่รัฐจะยกเลิกการส่งเสริม อีโค คาร์ ที่เป็นผลิตภัณฑ์หลักของซูซูกิ ในปี 2569 จึงเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้ตัดสินใจหยุดผลิตตั้งแต่ปี 2569 

ขณะเดียวกันเครือข่ายการผลิตซูซูกิมีหลายแห่ง รวมถึงในอินโดนีเซียซึ่งสามารถทำตลาดในอาเซียนได้ด้วยเงื่อนไขเขตการค้าเสรีอาเซียนหรืออาฟตา ทำให้การรวมฐานการผลิตจะช่วยให้การบริหารจัดการต้นทุนดีขึ้น 

ภาพแตกต่าง “นิสสัน-มาสด้า”

ขณะที่การหยุดสายการผลิตของซูบารุและซูซูกิ ทำให้เกิดความตื่นตระหนกว่าจะลุกลามไปบริษัทอื่นหรือไม่ โดยเฉพาะรายเล็กที่มียอดขายไม่มากนัก

แหล่งข่าว ระบุว่า สถานการณ์หลายบริษัทแตกต่างกันแม้ว่าอนาคตไม่มีใครฟันธงว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรหรือไม่ แต่ระยะใกล้เชื่อว่าโรงงานต่างๆ ยังเดินหน้าการผลิตเพราะต้องรองรับตลาดส่งออกด้วย โดยมีบริษัทแม่เป็นผู้ควบคุมการบริหารจัดการ และสถานะของไทยยังมีความสำคัญกับตลาดโลก จากการมีความแข็งแกร่งของผู้ผลิตชิ้นส่วน ความแข็งแกร่งของทักษะแรงงาน 

นอกจากนี้ ในมุมการวางรากฐานเครือข่ายการผลิตเป็นเรื่องน่าสนใจ เช่น นิสสัน แม้ว่าปัจจุบันยอดขายในประเทศไม่ดีนัก แต่นิสสันมีภารกิจส่งออกรถยนต์จากไทยไปตลาดต่างๆ ที่สำคัญมีทั้งตลาดรถพวงมาลัยขวาและพวงมาลัยซ้าย  

ทั้งนี้ จากการปรับโครงสร้างล่าสุดของนิสสัน มอเตอร์ ประเทศญี่ปุ่น ที่ยุติการทำตลาด และการผลิตหลายแห่ง เช่น รัสเซีย สเปน เพื่อนบ้านอย่างอินโดนีเซีย ทำให้ปัจจุบัน นิสสันประเทศไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์พวงมาลัยขวาที่สำคัญ เพราะอินโดนีเซียหยุดสายการผลิตแล้ว 

ขณะเดียวกันหากมองมุมกลับสำหรับบริษัทที่จะทำตลาดในไทย การหาแหล่งนำเข้ารถยนต์พวงมาลัยขวาเป็นเรื่องยาก ยกเว้นจะนำเข้าจากญี่ปุ่น ซึ่งแน่นอนจะทำให้มีต้นทุนเพิ่มสูงขึ้นมาก จากภาระภาษีนำเข้า 80%

ขณะที่มาสด้า ปัจจุบันมีฐานการผลิตที่โรงงานเอเอที โรงงานร่วมทุนกับฟอร์ด ดังนั้นทำให้ เอเอที เป็นโรงงานที่มีความสำคัญอย่างมาก แม้ว่ายี่ห้อใดจะมียอดขายลดลงก็ตาม แต่ก็ยังมีอีกยี่ห้อหนึ่งที่ส่งเสริมกัน ดังนั้นเป็นเรื่องยากที่จะเห็นโรงงานแห่งนี้หยุดสายการผลิต 

“มาสด้า” ปรับทัพลุยเปิดตัวสินค้าใหม่

นายธีร์ เพิ่มพงศ์พันธ์ รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ที่ผ่านมาภาพรวมของมาสด้า อาจไม่มีรถใหม่ทำตลาด บวกกับอยู่ช่วงเศรษฐกิจไม่ดี ทำให้อยู่ในสถานการณ์ประคองตลาด และการปรับโครงสร้าง รวมถึงโครงสร้างเครือข่ายตัวแทนจำหน่ายที่บางส่วนเลิกไป ซึ่งจะทำให้หลังจากนี้โครงสร้างเข้มแข็งขึ้น

ทั้งนี้ การขาดผลิตภัณฑ์ใหม่ของมาสด้าไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในไทยแต่รวมถึงบริษัทแม่ด้วย แต่ขณะนี้เริ่มแน่ชัดว่า มาสด้า คอร์ปอเรชั่น เตรียมเปิดเกมรุกครั้งใหญ่ปีนี้ โดยเฉพาะด้านพลังงานทดแทนทั้งไฮบริด หรือ อีวี ซึ่งจะทำให้สถานการณ์โดยรวมดีขึ้น

สำหรับธุรกิจในไทยล่าสุดวานนี้ (11 มิ.ย.2567) มาสด้า ประกาศปรับโครงสร้างองค์กรอย่างเป็นทางการ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขันทางธุรกิจในปัจจุบัน และอนาคต (Competitive Advantage) โดยการดันผู้นำรุ่นใหม่ขึ้นมาเสริมความแข็งแกร่งการบริหารงานองค์กรแบบ 360 องศา ภายใต้กลยุทธ์ Retention Business Model ให้ความสำคัญด้านการขาย การบริการ การดูแลลูกค้า

นายทาดาชิ มิอุระ ประธานบริหาร บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า การปรับโครงสร้างใหม่จะขับเคลื่อนวัฒนธรรมองค์กรด้วยการทำงานเป็นทีม “One Mazda” รองรับ New Business Landscape ในอนาคต รวมถึงการดึงคนรุ่นใหม่ร่วมทีม และดันผู้บริหารรุ่นใหม่ อาทิ นายธีร์ เพิ่มพงศ์พันธ์ รองประธานบริหารอาวุโส ขึ้นมาดำรงตำแหน่ง รองประธานกรรมการบริหาร 

“สถานการณ์ปัจจุบันหลายองค์กรต้องปรับตัวให้เหมาะสมกับภาวะตลาดที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว การปรับทัพผู้บริหารมาสด้าในจังหวะที่ตลาดรถยนต์มีการแข่งขันที่รุนแรงเป็นที่น่าจับตามองอย่างยิ่ง ถือเป็นช่วงเวลาที่ท้าทายมากที่สุดที่มาสด้ากำลังก้าวข้ามไปสู่ความสำเร็จที่ยั่งยืนในอนาคต โดยเฉพาะการเตรียมพร้อมรองรับเทคโนโลยีใหม่ และรถยนต์รุ่นใหม่ที่กำลังจ่อคิวลงตลาดเร็วๆ นี้”

ชี้ค่ายรถญี่ปุ่นแพ้สงครามราคาอีวี

นายสุพจน์ สุขพิศาล ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วน และอะไหล่ยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า กรณีการเลิกผลิตยานยนต์ของซูซูกิ และซูบารุ จะมีผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนแน่นอน โดยเฉพาะแบรนด์ที่จะเข้ามาใหม่เพราะไม่รู้ว่า 2 แบรนด์นี้มีเหตุปัจจัยอะไร โดยอีวีจีนที่เข้ามาเยอะทำให้ซูซูกิลดราคาคันละเกือบ 1 แสนบาท ดังนั้น ความเชื่อมั่นจึงมีผลแน่นอน 

ทั้งนี้ ซูบารุนำเข้าชิ้นส่วนจากญี่ปุ่น และมาเลเซียเพื่อนำมาพ่นสีประกอบในไทย และมีการขยายฐานการผลิตจากมาเลเซียมาไทย แต่ในช่วงหลังเริ่มมีการผลิตลดลง

ส่วนการผลิตของซูซูกิที่เข้ามาตั้งโรงงานเพื่อผลิตอีโคคาร์ โดยในช่วงแรกมียอดขายอีโคคาร์ดีมาก ซึ่งทำให้มีการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ย 7-8 พันคันต่อเดือน แต่ในช่วงหลังมีการผลิตไม่ถึง 1 พันคันต่อเดือน ดังนั้น ถ้าสรุปผลกระทบจากการปิดโรงงานของซูบารุและซูซูกิจึงถือว่ามีผลกระทบต่อผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ในไทยไม่มาก

เกรท วอลล์ ปรับกำลังการผลิต

ขณะที่อีกบริษัทที่ถูกนำชื่อเข้ามาพัวพันกับสถานการณ์ยุ่งๆ คือ เกรท วอลล์ มอเตอร์ หลังจากที่ในเวทีโลก ค่ายใหญ่จากจีนประกาศปิดสำนักงานใหญ่ในยุโรปที่เยอรมนีหลังจากตลาดหดตัวอย่างหนัก แต่เกรทวอลล์ ประเทศไทย ยืนยันถึงความแข็งแกร่งของตลาด รวมถึงการดำเนินธุรกิจได้ตามเป้าหมาย เช่น การเปิดตัวรถยนต์ 9 รุ่น ภายใน 3 ปี และเตรียมจะเปิดตัวรุ่นที่ 10 ซึ่งเป็นปิกอัพไฮบริดรุ่นแรกในไทยคือ โพเออร์ ซาฮาร์

นายณรงค์ สีตลายน กรรมการผู้จัดการ เกรท วอลล์ มอเตอร์ ประเทศไทย ระบุว่า เกรท วอลล์ ยังคงเดินแผนธุรกิจได้ตามเป้าหมาย แม้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นบ้างในโรงงาน ทำให้ถูกจับตามอง แต่นั่นเป็นเพียงการปรับกำลังการผลิตให้เหมาะสมกับตลาดโดยลดซับ คอนแทคท์ ลงไปบ้าง แต่โดยรวมแล้ว โรงงานยังคงเดินหน้าตามปกติ รวมถึงการประกอบรถรุ่นใหม่ๆ เช่น โอร่า กู๊ดแคท ซึ่งเป็นการประกอบอีวี รุ่นแรกในไทยของบริษัท 

“เอ็มจี”ชี้อีวีจีนมีส่วนแบ่งตลาดแค่10%

นายพงษ์ศักดิ์ เลิศฤดีวัฒนวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า สถานการณ์อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยยังไม่น่าห่วง แม้จะมีข่าวการประกาศหยุดประกอบรถยนต์ในประเทศ 2 ราย โดยเป็นเรื่องปกติของธุรกิจที่เกิดขึ้นทั่วโลกที่เปลี่ยนแปลงได้แล้วแต่ความเหมาะสมกับช่วงเวลา ซึ่งที่ผ่านมาอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยมีทั้งการเข้ามาลงทุนใหม่ การลดขนาดองค์กร หรือการถอนตัวออกไป และการกลับเข้ามาลงทุนใหม่

ทั้งนี้ การประกาศหยุดการผลิตของทั้ง 2 บริษัท (ซูบารุ, ซูซูกิ) เห็นชัดเจนว่าไม่ได้หนีไปจากไทย เพียงแต่ปรับรูปแบบธุรกิจให้เหมาะสม ด้วยยังเห็นศักยภาพตลาดในอนาคต

นอกจากนี้ ไม่เชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงต่างๆ เกิดขึ้นจากการเข้ามาของอีวีจากจีน เพราะแม้ว่าจะมียอดขายเติบโตเร็ว แต่อีวีจีนมีส่วนแบ่งตลาดแค่ 10% แต่มองว่าเกิดจากภาพรวมที่มีปัจจัยลบเกิดขึ้นหลายอย่าง โดยเฉพาะสถานการณ์เศรษฐกิจที่ชะลอตัว และเชื่อว่าช่วงครึ่งปีหลัง ตลาดรถยนต์จะค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากแผนการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่จากหลายบริษัทที่จะเป็นตัวกระตุ้นกำลังซื้อ

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์

Adblock test (Why?)

อ่านบทความและอื่น ๆ ( 'ค่ายญี่ปุ่น 'ดิ้นสู้ตลาดรถไทย ยกแรกแพ้สงครามราคา ปิดโรงงาน 2 บริษัท - กรุงเทพธุรกิจ )
https://ift.tt/wD5e3x1
รถยนต์

Bagikan Berita Ini

0 Response to "'ค่ายญี่ปุ่น 'ดิ้นสู้ตลาดรถไทย ยกแรกแพ้สงครามราคา ปิดโรงงาน 2 บริษัท - กรุงเทพธุรกิจ"

Post a Comment

Powered by Blogger.