Search

ยุคยานยนต์ไฟฟ้าบูม รถญี่ปุ่น ยุโรป ต้องพึงจีน ล่าสุด ฮอนด้าเปิดตัว Ye Series 6 รุ่นขายปี 2027 - ผู้จัดการออนไลน์



ในเรื่องของอุตสาหกรรมรถยนต์ ไม่ว่าจะเป็นแบบที่ใช้สันดาปภายใน หรือไฟฟ้าแบบเสียบปลั๊ก หรือ BEV สิ่งหนึ่งที่สามารถช่วยลดขั้นตอนความยุ่งยากทั้งในเรื่องของเวลาและเงินทุนในการพัฒนา คือ การแลกเปลี่ยนอะไรสักอย่าง ด้วยการจับมือกับบริษัทรถยนต์ที่มี Know-How อยู่แล้ว และในยุคที่ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าเริ่มบูม และเกิดสภาพที่เรียกว่าต่างคนต่างแดนกันมาสักระยะ บริษัทรถยนต์หลายแห่งเริ่มที่จะหันมามองหน้ากัน พร้อมกับผนึกกำลังในการร่วมพัฒนา และแชร์พื้นฐานทางวิศวกรรมเพื่อเข้ามาเสริมในสิ่งที่ตัวเองไม่มี

ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่เราจะเห็นว่าในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา หลายแบรนด์ที่อาจจะไม่มีองค์ความรู้ในเรื่องของรถยนต์พลังไฟฟ้า เลือกที่จะจับมือกับแบรนด์อื่นๆ และมองหาพันธมิตรเข้ามาทำงานร่วมด้วย โดยไม่เกี่ยงว่าจะเป็นแบรนด์รถยนต์จากจีนก็ตาม เพราะสิ่งหนึ่งที่พวกเขาจะต้องจัดการให้ได้คือ การเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ด้วยความรวดเร็วในราคาที่สามารถจับต้องได้ด้วย…ในกรณีที่เป็นแบรนด์รถยนต์ที่เน้นเจาะตลาดคนทั่วไป


Honda คือ ตัวอย่างที่ดีของการปรับตัวเพื่อความอยู่รอด ในตลาดสหรัฐอเมริกา พวกเขาจับมือกับ GM หรือ General Motors เพื่อร่วมพัฒนารถยนต์เซลล์เชื้อเพลิง หรือ Fuel Cell Vehicle ซึ่งถูกมองว่าเป็นอีกหนึ่งอนาคตในการขับเคลื่อนของมนุษย์ในยุคที่ไม่ต้องการไอเสียหลุดออกมาจากปลายท่อ และที่สำคัญ คือ การกระจายความเสี่ยงในเชิงเทคโนโลยีออกไปยังแบบอื่นๆ นอกเหนือจากรถยนต์พลังไฟฟ้าแบบเสียบปลั๊ก หรือ BEV

นอกจากนั้น แทนที่จะทุ่มพัฒนาหรือเดินหน้าเริ่มต้นอะไรด้วยตัวเอง พวกเขาเลือกที่จะจับมือกับพันธมิตรเพื่อผนึกกำลังกันในการสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ออกมาสู่ตลาดภายใต้เงื่อนไข 2 คือ เปิดตัวได้รวดเร็ว และมีราคาที่สามารถแข่งขันได้ในตลาด นั่นจึงทำให้ Honda เลือกจับมือกับ Nissan ในการพัฒนารถยนต์พลังไฟฟ้ารุ่นใหม่ๆ ออกมา ซึ่งก็เหมือนกับในอดีตที่แบรนด์เหล่านี้ต่างแลกรถยนต์ในส่วนที่ตัวเองไม่มีในการทำตลาด เพื่อลดทั้งระยะเวลาในการพัฒนา และงบประมาณที่ใช้ในโปรเจ็กต์เหล่านี้หากต้องเริ่มสตาร์ทจากศูนย์


การจับมือของ Honda และ Nissan ถูกมองว่าจะช่วยเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในตลาด โดยเฉพาะกับแบรนด์รถยนต์จีนที่มีการพลิกตัวที่รวดเร็ว และเปิดผลผลิตใหม่ออกสู่ตลาดในเกือบทุกไตรมาสเลย เช่นเดียวกับการใช้นโยบายในเรื่องการหั่นราคาเพื่อเพิ่มยอดขาย และทำให้บริษัทรถยนต์จากยุโรปและญี่ปุ่นที่มีโปรดักส์หลักอยู่ในกลุ่ม B และ C-Segment ต้องนั่งปวดหัวไปตามๆ กัน

อย่างที่ทราบกันดีว่า Nissan มีทั้งองค์ความรู้และโปรดักส์ในการทำรถยนต์พลังไฟฟ้ามาตั้งแต่ปี 2009 เมื่อพวกเขาเปิดตัว LEAF ออกมาและเป็นรถยนต์พลังไฟฟ้าที่จำหน่ายในเชิงพาณิชย์รุ่นแรกของโลก แต่หลังจากเข้าสู่ยุคการรุกรานของตลาดรถยนต์จีน พวกเขาเจอปัญหาอย่างมากในแง่ยอดขาย ทั้งในเรื่องของราคา และความสดใหม่ของรุ่นรถยนต์ที่ไม่สามารถเปลี่ยนได้อย่างรวดเร็วเหมือนกับแบรนด์จีน

“ผู้เล่นหน้าใหม่มีความก้าวร้าวมากและกำลังบุกเข้ามาสู่ตลาดด้วยความเร็วที่เหลือเชื่อมาก’ มาโกโตะ อุชิดะ ผู้บริหารระดับสูงของ Nissan กล่าว ‘เราไม่สามารถชนะการแข่งขันได้ตราบใดที่เรายึดมั่นในแนวทางแบบเดิมๆ’


ขณะที่โทชิฮิโระ มิเบะ ประธาน Honda กล่าวว่า “เรามีเวลาจำกัดและจำเป็นต้องเร่งความเร็วในการพัฒนาให้เสร็จสิ้นภายในปี 2030 และเพื่อที่จะอยู่ในตำแหน่งที่ดีในอนาคต เราต้องตัดสินใจตั้งแต่ตอนนี้ในการทำโปรเจ็กต์ลักษณะนี้ การเพิ่มขึ้นของผู้เล่นหน้าใหม่กำลังเปิดขึ้นเร็วมากและแข็งแกร่งขึ้นมาก บริษัทไหนที่ไม่สามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงก็จะถูกกำจัดออกไป’ ทั้ง Honda และ Nissan มียอดขายรถยนต์รวมทั่วโลกราวๆ 3 ล้านกว่าคัน และพวกเขากำลังจับมือทำงาน เพื่อวางรากฐานความมั่นคงของทั้ง 2 บริษัทในอนาคต

ข้อตกลงระหว่างบริษัทของ Honda และ Nissan ไม่มีผลผูกพัน ซึ่งหมายความว่าหุ้นส่วนอาจแตกสลายได้ และไม่เกี่ยวข้องกับเงินทุนใดๆ นอกจากนั้น ยังเคยมีรายงานว่าในช่วงปลายปี 2019 เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลญี่ปุ่นพยายามโน้มน้าวผู้ผลิตรถยนต์ในประเทศร่วมมือกันให้ดำเนินการควบรวมกิจการเต็มรูปแบบเพื่อสร้างรถยนต์เพื่อการใช้งานในระดับประเทศ ด้วยเหตุผลในเรื่องของการลดต้นทุน และการรับมือกับการรุกรานของบริษัทรถยนต์จีน แต่แนวคิดดังกล่าวถูกบริษัทต่างๆ ปฏิเสธอย่างรวดเร็ว

David Bailey ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ธุรกิจที่โรงเรียนธุรกิจเบอร์มิงแฮมกล่าวว่า ‘มันเหมือนกับบริษัทที่ล้าหลังในญี่ปุ่นเหล่านี้กำลังเล่นไล่จับกันโดยไม่สนใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นรอบๆ สิ่งนี้เน้นย้ำให้เห็นถึงภัยคุกคามจากจีนที่มีต่อบริษัทรถยนต์ของชาติตะวันตก และก็รวมถึงบริษัทในญี่ปุ่น กับสงครามราคา เพราะข้อดีของจีนก็คือ การผลิตรถยนต์ในราคาที่ต่ำกว่า 25% ถึง 30%’


เลือกพันธมิตรให้เหมาะกับตลาดแล้วจะดีเอง

นอกจากนั้น สำหรับตลาดรถยนต์จีน ซึ่ง Honda จำเป็นจะต้องเปิดเกมรุกด้วยรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่ๆ ที่มีความน่าสนใจกว่าการนำรถยนต์สันดาปภายในของตัวเองมาดัดแปลงนั้น พวกเขาก็ร่วมทำงานกับพันธมิตรมากหน้าหลายตา เช่น CATL, Hauwei และ iFlyTech ซึ่งแต่ละบริษัทจะมีความเชี่ยวชาญในการทำงานตามสาขาที่แตกต่างกันออกไป

ในงานออโต้ ไชน่า ที่จะเริ่มในปลายเดือนเมษายนนี้ ที่เมืองปักกิ่ง Honda ประกาศออกมาแล้วว่าจะเปิดตัวรถยนต์พลังไฟฟ้าใหม่ 3 รุ่นที่มาจากการทำงานร่วมกับพันธมิตรเหล่านี้ในฐานะที่เป็น Local Content นั่นคือ Ye Series ซึ่งจะประกอบด้วย S7 และ P7 Series ส่วนอีกรุ่นคือ GT Series และแน่นอนว่ารถยนต์เหล่านี้ไม่ได้ใช้โลโก้ดั้งเดิมของ H ที่เราคุ้นเคย แต่จะเป็นตัว H ที่ถูกดัดแปลงเพื่อใช้เป็นแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าสำหรับทำตลาดในจีนโดยเฉพาะ

รุ่นแรกที่จะถูกเปิดตัวขายก่อนคือ S7 และ P7 ซึ่งมีคิวลงขายในจีนช่วงปลายปี 2024 โดยทั้งคู่จะมีตัวถังเดียวกัน ต่างกันที่การขับเคลือนด้วยมอเตอร์เดี่ยวแบบล้อหลัง หรือว่าการขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าคู่ในแบบทวินมอเตอร์ ส่วน GT Series ซึ่งมาในแบบรถยนต์ฟาสแบ็คขนาด D-Segment จะเริ่มลงตลาดในปลายปี 2025

นอกจากนั้น Honda ยังวางแผนเปิดตัวรถยนต์ที่มาจาก Ye Series รวมทั้งสิ้นอีก 6 รุ่นภายในปี 2027 ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ทำได้ยากหากเริ่มต้นด้วยตัวคนเดียว


Volk จับมือ Xpeng พัฒนารถไฟฟ้าเจาะตลาดโลก

จริงอยู่ที่ Volkswagen ก็มีรถยนต์พลังไฟฟ้าในการทำตลาด แต่ด้วยเหตุที่ความคล่องตัวในการพัฒนา เช่นเดียวกับเรื่องของต้นทุนและระยะเวลาในการพัฒนาเหมือนกับบริษัทรถยนต์รายอื่นๆ ทำให้พวกเขาต้องมองหาทางออกด้วยเช่นกัน และ Volkswagen เลือกที่จะจับมือกับ Xpeng ในการพัฒนารถยนต์พลังไฟฟ้ามี 2 รุ่น ในจีน ภายใต้แบรนด์โฟล์คสาเกน โดยมีกำหนดเปิดตัวในปี 2569 ที่มีราคาเข้าถึงง่ายสำหรับเจาะตลาดทั่วโลก

ว่ากันรถยนต์พลังไฟฟ้ารุ่นใหม่ที่ยังไม่มีการตั้งชื่อรุ่นจะใช้โครงสร้างพื้นฐานทางวิศวกรรม China Electrical Architecture (CEA) ของ Volkswagen และอาศัยองค์ความรู้ทางด้านการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าของ Xpeng เข้ามาต่อเติมเพื่อให้สามารถกลายเป็นรถยนต์ที่สามารถแข่งขันได้ในตลาด โดยว่ากันว่ารถยนต์พลังไฟฟ้าที่ใช้แพล็ตฟอร์ม CEA จะมีต้นทุนลดลงจากรถยนต์พลังไฟฟ้าที่ใช้พื้นฐานของพื้นตัวถัง MEB ที่พัฒนาโดย Volkswagen ในเยอรมนีถึง 40% เลยทีเดียว


การทำงานครั้งนี้เป็นผลต่อเนื่องมาจากปีที่แล้ว ซึ่ง Volkswagen เข้าซื้อหุ้นของ Xpeng เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2023 จำนวน 4.99% ซึ่งมีมูลค่า 700 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อใช้เป็นพันธมิตรในการพัฒนารถยนต์พลังไฟฟ้าที่มีราคาไม่แพงออกมาเจาะตลาดทั่วโลก โดยจะเริ่มปล่อยผลผลิตออกมาในปี 2026 โดยจะมีอีก 2 โมเดลที่ใช้พื้นตัวถังรุ่น Edward ของ Xpeng ตามออกมาขายด้วย

แม้ว่าผลิตภัณฑ์จะเปลี่ยนไป แต่การเลือกจับมือกับพันธมิตรที่ดีและลงตัว ยังเป็นกุญแจสำคัญสำหรับการอยู่รอด และการรักษาฐานและส่วนแบ่งในตลาดเอาไว้ได้โดยถือเป็นวิธีที่แบรนด์รถยนต์ยังสามารถนำมาใช้ได้อย่างต่อเนื่อง ถึงยุคสมัยจะเปลี่ยนไปก็ตาม

Adblock test (Why?)

อ่านบทความและอื่น ๆ ( ยุคยานยนต์ไฟฟ้าบูม รถญี่ปุ่น ยุโรป ต้องพึงจีน ล่าสุด ฮอนด้าเปิดตัว Ye Series 6 รุ่นขายปี 2027 - ผู้จัดการออนไลน์ )
https://ift.tt/QFUJi1o
รถยนต์

Bagikan Berita Ini

0 Response to "ยุคยานยนต์ไฟฟ้าบูม รถญี่ปุ่น ยุโรป ต้องพึงจีน ล่าสุด ฮอนด้าเปิดตัว Ye Series 6 รุ่นขายปี 2027 - ผู้จัดการออนไลน์"

Post a Comment

Powered by Blogger.