Search

ตลาด EV ฝุ่นตลบแข่งหั่นราคา 'เทสล่า-จีน' แห่เข้าไทยหมดทางเลี่ยง - กรุงเทพธุรกิจ

รถยนต์พลังงานไฟฟ้า หรือ อีวี ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว โดยปีล่าสุด 2566 ที่ผ่านมา มียอดจดทะเบียนรวม 7.57 หมื่นคัน สูงกว่าปีก่อนหน้ากว่า 600 % 

ส่วนในปี 2567 คาดการณ์กันว่าจะมียอดเพิ่มขึ้นกว่า 1 แสนคัน จากการตอบรับของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นมีตัวเลือกสินค้าที่เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันก็ทำให้อุณหภูมิการแข่งขันรุนแรง ชี้หั่นราคาเป็นทางออกที่เลี่ยงไม่ได้หากต้องการอยู่รอด หวั่นเกิดภาวะ อีวี ล้นตลาดในอนาคต 

ตลาดรถยนต์ส่วนบุคคลพลังงานไฟฟ้าในไทย เริ่มคึกคักจริงจังหลังจากที่ เอ็มจี เปิดตัว แซดเอส อีวี เป็น mass EV รุ่นแรกในปี 2562 ด้วยระดับราคาที่เข้าถึงได้ง่ายขึ้น 1.19 ล้านบาท แม้ว่าจะสูงกว่ารถที่ใช้น้ำมัน ซึ่งขณะนี้เอ้มจี แซดเอส มีราคาระดับ 7-8 แสนบาท

จากนั้นเมื่อมีผู้เล่นเข้ามาในตลาดเพิ่มเติม เริ่มจาก เกรท วอลล์ ที่เปิดตัว โอร่า กู๊ดแคท ในปี 2563 ก็ทำให้ตลาดอีวีเติบโตอย่างรวดเร็วมากขึ้น

และมาเพิ่มอัตราเร่งอย่างชัดเจนในปี 2565 เมื่อรัฐมีมาตรการส่งเสริมการใช้งาน อีวี ระยะเร่งด่วน ด้วยการสนับสนุนทั้งภาษีนำเข้า ภาษีสรรพสามิต รวมถึงเงินอุดหนุนโดยตรง สูงสุด 1.5 แสนบาท/คัน

อีวี คึกคักยิ่งขึ้น เมื่อรายใหญ่ของโลก อย่างเทสล่าตัดสินใจเข้ามาทำตลาดในไทย ก่อนที่อีกรายใหญ่อย่าง บีวายดี ก็เข้ามาเช่นกัน ขณะที่อีวีราคาประหยัด อย่างเนต้า อีวี ก็ยังคงได้รับความนิยมต่อเนื่อง และนั่นมีผลทำให้ตลาดอีวีโดยรวมโตแบบก้าวกระโดดในปีที่ผ่านมา

และอีกสิ่งหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือ โครงสร้างราคาที่ลดลงจากเดิมอย่างมาก ทำให้การเข้าถึงของลูกค้าง่ายขึ้น โดยช่วงปีที่ผ่านตลาดอีวีปรับลดราคาหลายครั้งทั้งการลดโดยตรง และลดทางอ้อมผ่านแคมเปญ เช่น เงินคืนสูงสุด แต่โดยรวมก็หมายถึงราคาที่ลดลง

สงครามราคาในตลาดอีวีที่เห็นภาพชัดเจนที่สุด คือ การปรับลดราคาของเทสล่าหลายครั้ง ทำให้ค่ายรถอื่นๆ ต้องปรับตัวตามเพื่อรับมือกับการแข่งขัน ซึ่งการเริ่มต้นด้านราคาไม่ได้เริ่มต้นที่ไทย แต่เทสล่าใช้นโยบายนี้ในหลายประเทศ รวมถึงตลาดใหญ่ของอีวีอย่างประเทศจีน

หวังถึงจุดราคาอิ่มตัว-บล็อคตลาดอีวีนอกจีน

ผู้บริหาร ซีเกอร์ (ZEEKR) รถ พรีเมียม อีวี ในกลุ่ม จีลี (GEELY) ประเทศจีน ที่เตรียมบุกตลาดประเทศไทยอย่างเป็นทางการ โดยจะเปิดตัวรถรุ่นแรกในงาน “บางกอก อินเตอร์เนชันแนล มอเตอร์โชว์” ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนไทยว่า การขยับตัวด้านราคาของ เทสล่า เพื่อเพิ่มความได้เปรียบในการแข่งขันทางการตลาด และทำให้ผู้ผลิตจากจีนต้องปรับตัวตาม ซึ่งแน่นอนว่ามีผลต่อผลการดำเนินธุรกิจ 

ทั้งนี้ในส่วนของซีเกอร์ ก็ต้องพยายามมองเรื่องนี้อย่างระมัดระวัง แต่ก็คิดว่าถึงวันหนึ่งราคา อีวี จะอยู่ในจุดที่อิ่มตัว และบริษัทก็มีขอบเขตการกำหนดราคาของตัวเองอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม ภาพรวมของตลาดที่มีแนวโน้มการเข้ามาเปิดตัวของหลายแบรนด์หลังจากนี้ อาจทำให้ไม่สามารถหลีกเลี่ยงสงครามราคาได้ เพราะตลาดรถยนต์ประเทศไทยไม่ได้ใหญ่นัก เป็นที่ยอมรับกันว่าอยู่ในระดับ 8-9 แสนคัน/ปี

ชี้ภาวะล้นตลาดเหลือเฉพาะผู้เข้มแข็ง

นายโอเชี่ยน หม่า กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไอออน ออโตโมบิล เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันผู้ผลิตอีวีในจีนมีมากกว่า 200 บริษัท และมีจำนวนมากที่ต้องการขยายตลาดต่างประเทศ รวมถึงประเทศไทย ซึ่งปีนี้คาดว่าจะเข้ามาเปิดตลาดอีกหลายยี่ห้อ

แต่ด้วยตลาดปัจจุบันที่มีขนาดเกินกว่าจะรับได้หมด จึงเชื่อว่าเป็นเรื่องปกติที่จะเกิดภาวะล้นตลาด และด้วยกลไกการตลาดจะเป็นตัวจัดระเบียบเอง ว่าผู้ที่มีความแข็งแกร่งกว่าจะอยู่รอดได้ ขณะที่บางรายก็อาจจะต้องถอยออกไป ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลก คล้ายกับก่อนหน้านี้ที่ไทยมีรถยนต์จากหลายแหล่งผลิต รวมถึงฝั่งยุโรป อเมริกา ซึ่งถึงวันนี้ก็พบว่ามีบางค่ายที่หายไปจากตลาดแล้ว

หม่า กล่าวว่า สงครามราคาที่เกิดขึ้นจะเห็นได้ว่าหลักๆ คือ เทสล่า กับ รถจีน ที่สามารถต่อกรกันได้ ขณะที่รถจากแหล่งผลิตอื่นๆ ยังไม่สามารถเข้ามาแข่งขันได้เต็มที่

ซึ่งมุมมองของหม่า น่าสังเกตว่านั่นอาจจะเป็นหนึ่งในเหตุผลที่อีวีจากแหล่งอื่นๆ รวมถึงญี่ปุ่นยังไม่ขยับตัวมากนัก เพราะต้องการให้สงครามราคาถึงจุดอิ่มตัวก่อน

ส่วนการที่สงครามราคาทำให้ราคาต้องปรับลดลงมา มองว่าเป็นทางเดียวที่จะแข่งขันได้ไม่ว่าเป็นอีวี หรือตลาดรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ (ICE) 

“บางทีก็ไม่สามารถบอกว่าได้การปรับราคาจะเป็นผลบวกหรือผลลบ แต่ต้องทำเพื่อให้สามารถยังอยู่ในตลาดได้”

ถึงเวลาตลาดรถ "พรีเมียม" อีวี 

อย่างไรก็ตามมองว่าตลาดอีวีไทยก็จะต้องเดินหน้าพัฒนาต่อไป โดยช่วงนี้จะเป็นแบรนด์ พรีเมียม เข้ามาทำตลาดมากขึ้น เช่น เอ็มจี ที่มีแผนชัดเจนรวมถึงการสร้างโชว์รูมแนวคิดใหม่ รองรับตลาดพรีเมียมโดยเฉพาะ

ขณะที่แบรนด์ที่ทำตลาดอยู่แล้วก็เตรียมนำเข้าแบรนด์ พรีเมียม เช่น อวาตาร์ เดนซ่า หรือ ไฮเปอร์ ของไอออน เป็นต้น รวมถึงแบรนด์ใหม่ที่เข้ามาอย่าง ซีเกอร์ ก็เป็นรถในกลุ่มพรีเมียม

หม่า ระบุว่า การขยับตัวเข้าสู่ตลาดพรีเมียมมากขึ้น เป็นเพราะบริษัทรถยนต์มองเห็นถึงการยอมรับของตลาดประเทศไทย และที่ผ่านมา อีวี ที่ราคาเข้าถึงง่ายทำให้ตลาดเติบโตอย่างรวดเร็ว

และในเวลาเดียวกันผู้บริโภคที่อยู่ในตลาดบน ก็มองเห็นและยอมรับในอีวีว่าใช้งานได้ไม่มีปัญหาและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้ม ดังนั้นจึงพร้อมที่จะเข้าสู่ตลาดอีวี และต้องการได้รถที่มีความพรีเมียมมากขึ้น

“ไอซีอี” ยังอยู่รอด วอนรัฐหนุนชิ้นส่วน

นายสุวัชร์ ศุภกาญจน์เดชากุล นายกสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย มองว่า อีวี เข้ามามีบทบาทในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง โดยส่วนใหญ่เป็นผู้ผลิตจากจีน และทำยอดขายได้ดี ส่งผลกระทบต่อตลาดไอซีอี ที่ต้องปรับลดราคาลงมาอย่างเลี่ยงไม่ได้เพื่อให้สามารถแข่งขันได้

แต่อย่างไรก็ตามเชื่อว่าความต้องการของไอซีอียังมีอยู่ทั้งตลาดในประเทศและส่งออก โดยเฉพาะตลาดปิกอัพ 1 ตัน ซึ่งอยู่ที่การปรับตัวของแต่ละค่ายเพื่อความอยู่รอดในอนาคต

ซึ่งปัจจุบันตลาดตลาดส่งออก ไอซีอี ของไทยยังมีอยู่หลายตลาด เอเชีย โอเชียเนีย หรือทางกลุ่มตะวันออกกลาง และยุโรป แม้ว่าจะมีบางช่วงที่บางตลาดอาจจะชะลอตัวไปบ้างก็ตาม

ทั้งนี้รถยนต์ ไอซีอี ในปัจจุบัน มีผลต่อหลายธุรกิจ โดยเฉพาะผู้ผลิตชิ้นส่วนที่มีมากกว่า 2,500 บริษัท ซึ่งป้อนชิ้นส่วนเฉลี่ยน 60-70% ให้กับโรงงานประกอบรถยนต์ นอกจากนี้ก็ยังมีการส่งออกอีก 30-40% ดังนั้นจึงมองว่าในช่วงที่ ไอซีอี ได้รับผลกระทบรัฐเอง ก็ควรจะเข้ามาดูแลในส่วนของผู้ผลิตชิ้นส่วน โดยเฉพาะในกลุ่ม เทียร์ 2 ลงมา

“ผู้ผลิตชิ้นส่วนจะผลิตตามออเดอร์บริษัทรถยนต์ เมื่อต้องปรับตัวรายใหญ่หรือ เทียร์ 1 ก็จะได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยี แต่เทียร์ 2 ลงมา ใครจะเป็นผู้ถ่ายทอดให้” 

นอกจากนี้แม้ว่าที่ผ่านมา จะมีข้อเสนอแนะให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนปรับตัวหันไปผลิตชิ้นส่วนที่รับกับเทคโนโลยีใหม่ ก็ไม่ได้มีทุกรายที่จะปรับตัวได้

ขณะเดียวกันสำหรับรายที่สามารถปรับตัวได้ ผลิตชิ้นส่วนของ อีวี ได้ แต่คำถามคือ ลูกค้าคือใคร เพราะลูกค้าเดิมคือ ไอซีอี

ขณะที่ลูกค้าใหม่ก็มีชิ้นส่วนของตัวเอง หรือในเครืออยู่แล้ว หรือหากจะสนใจซื้อจริงๆ การผลิตก็ยังมีปริมาณไม่มากพอที่จะทำให้เกิดแรงดึงดูดด้านราคาคาได้ หรือ อีโคโนมีส์ ออฟ สเกล ยังไม่เพียงพอ ดังนั้นสิ่งที่อยากเห็นคือ การหาตลาดให้กับชิ้นส่วนเหล่านี้

นายพงษ์ศักดิ์ เลิศฤดีวัฒนวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด เชื่อว่าโอกาสในการต่อยอดของชิ้นส่วนไทยยังมี สิ่งสำคัญคือการปรับตัว และไม่ต่อต้านกับเทรนด์ที่กำลังเกิดขึ้น 

ส่วนไอซีอีที่เชื่อว่ายังมีอนาคตที่ดี คือ รถปิกอัพ ที่ตลาดยังคงต้องการรถที่ใช้เครื่องยนต์มากกว่าพลังงานไฟฟ้า 

นโยบายรัฐ-ราคาน้ำมัน ดันอีวีไทยโตเร็วในภูมิภาค

นายกฤษฎา อุตตโมทย์ นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย หรือ EVAT กล่าวว่า ต้องยอมรับว่ากระแสของอีวีได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น ขณะที่ ไอซีอี เริ่มถึงจุดอิ่มตัว และจะลดลงเรื่อยๆ โดยการเติบโตของอีวีไทยถือว่ารวดเร็ว และโดดเด่นกว่าหลายประเทศในภูมิภาค เช่น จากข้อมูลช่วง 3 ไตรมาสแรกปี 2566 อีีวีไทยมีตลาดประมาณ 5 หมื่นคัน ขณะที่เวียดนาม 1.9 หมื่นคัน อินโดนีเซีย 1.02 หมื่นคัน ขณะที่มาเลเซีย 4,800 คัน

การเติบโตที่โดดเด่นมาจากหลายปัจจัย ทั้งมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐ รวมถึงโครงสร้างราคาพลังงานที่น้ำมันในไทยมีราคาค่อนข้างสูง ทำให้ผู้บริโภคหันไปใช้ อีวี มากขึ้น ต่างจากบางประเทศ เช่น มาเลเซีย ที่ราคาน้ำมันต่ำกว่าไทยมากประมาณ 50%  จึงเป็นเรื่องยากที่อีวี จะขยายตัวอย่างรวดเร็ว 

อย่างไรก็ตามสิ่งที่ต้องพัฒนาควบคู่กันไป คือ โครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะที่ชาร์จ ซึ่งปัจจุบันไทยมีทหัวชาร์จประมาณ 9,600 หัว กระจายอยู่ใน 200 ทำเล 

นายพงษ์ศักดิ์ กล่าวว่าในส่วนของหัวชาร์จเร็ว (DC Chager) ไทยมีสัดส่วน 23 คัน/หัว ซึ่งถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับจีนที่อยู่ที่ 2.5 คัน/หัว

Adblock test (Why?)

อ่านบทความและอื่น ๆ ( ตลาด EV ฝุ่นตลบแข่งหั่นราคา 'เทสล่า-จีน' แห่เข้าไทยหมดทางเลี่ยง - กรุงเทพธุรกิจ )
https://ift.tt/o6fCYgR
รถยนต์

Bagikan Berita Ini

0 Response to "ตลาด EV ฝุ่นตลบแข่งหั่นราคา 'เทสล่า-จีน' แห่เข้าไทยหมดทางเลี่ยง - กรุงเทพธุรกิจ"

Post a Comment

Powered by Blogger.