เว็บไซต์ ศาลฎีกา เปิดแนวทางพิจารณคดี กรณีรถยนต์สูญหายในห้างสรรพสินค้า 5 คดี ดังนี้
อัปเดตล่าสุด อัตราดอกเบี้ย สินเชื่อบ้าน-คอนโด เดือนกรกฎาคม ปี 2566
คลัง จ่อหั่นเบี้ยสูงวัย "คนรวย" แผนรีดภาษีเพิ่ม 20 รายการ
คดีแรก กรณีรถยนต์สูญหายในห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี ซุปเปอร์เซ็นเตอร์ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2506/2560)
การประกอบธุรกิจห้างสรรพสินค้าของจำเลย จำเลยจัดให้มีลานจอดรถเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ลูกค้าของจำเลย ลานจอดรถของจำเลยสามารถจอดรถยนต์ได้ประมาณ 500 คัน มีพนักงานรักษาความปลอดภัย 4 คน คอยเดินดูบริเวณลานจอดรถ
ก่อนที่รถยนต์จะสูญหายในคดีนี้ เคยมีกรณีรถยนต์และรถจักรยานยนต์ที่จอดในลานจอดรถสูญหายมาแล้ว จำเลยจึงมีมาตรการป้องกันโดยให้พนักงานรักษาความปลอดภัยเดินดูบริเวณลานจอดรถ แต่ไม่มีจุดยืนประจำแสดงว่า นอกจากพนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยมีหน้าที่จัดการจราจรและดูแลทรัพย์สินของจำเลยแล้ว จำเลยได้จัดให้พนักงานรักษาความปลอดภัย มีหน้าที่ดูแลความปลอดภัยรถยนต์ของลูกค้า ทั้งยังติดตั้งกล้องวงจรปิดเพื่อบันทึกภาพรถผ่านเข้าออกบริเวณทางเข้าออกลานจอดรถ
พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า
- จำเลยจัดให้มีมาตรการรักษาความปลอดภัยเพื่อป้องกันมิให้รถยนต์ของลูกค้าถูกคนร้ายลักไปด้วย ย่อมก่อให้เกิดหน้าที่แก่จำเลยต้องใช้ความระมัดระวังดูแลความปลอดภัยรถยนต์ของลูกค้าแต่จำเลยจัดให้มีพนักงานรักษาความปลอดภัยเพียง 4 คนซึ่งมีจำนวนน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับลานจอดรถซึ่งสามารถจอดรถยนต์ได้ถึง 500 คัน
- กลับมีกล้องวงจรปิดติดตั้งบริเวณทางเข้าออกลานจอดรถเท่านั้น ทำให้คนร้ายเข้าไปลักรถยนต์ได้โดยง่าย หากจำเลยจัดให้มีพนักงานรักษาความปลอดภัยจำนวนมากเพียงพอคอยตรวจตราดูแลความปลอดภัยอย่างเคร่งครัดและมีมาตรการรักษาความปลอดภัยอื่นๆ ที่ดีกว่านี้ก็ยากที่รถยนต์กระบะจะถูกลักไปได้
การที่รถยนต์กระบะที่ โจทก์รับประกันภัยไว้สูญหายไป
จึงเกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยอันเป็นการทำละเมิดที่จำเลยปิดประกาศไว้ว่าจะไม่รับผิดชอบต่อการสูญหายของทรัพย์สินลูกค้าเป็นเรื่องข้อกำหนดของจำเลยฝ่ายเดียว ไม่มีข้อยกเว้นความรับผิดในการทำละเมิดของจำเลย
สำหรับผู้รับประกันภัยของจำเลยเมื่อกรมธรรม์ประกันภัยมิได้คุ้มครองความสูญหายของรถยนต์ที่ลูกค้านำเข้าไปจอดในห้างจำเลยอันเกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลย ผู้รับประกันภัยจึงไม่จำต้องร่วมรับผิดกับห้างสรรพสินค้าจำเลย
ต่อมา กรณีรถยนต์ของพนักงานของห้างสรรพสินค้าโฮมโปรที่เช่าพื้นที่ของห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี ซุปเปอร์เซ็นเตอร์ฯ สูญหาย (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7078/2560)
พนักงานของห้างสรรพสินค้าโฮมโปรขับรถยนต์ของตนเองเข้าไปจอดในพื้นที่อาคารจอดรถของห้างสรรพสินค้าบิ๊กซีแล้วรถยนต์สูญหาย เมื่อไม่ปรากฏว่า พนักงานของห้างฯโฮมโปรได้ซื้อสินค้าหรือใช้บริการอื่นๆ ภายในห้างฯบิ๊กซีแล้ว จึงยังไม่อาจถือได้ว่าพนักงานของห้างฯโฮมโปรเป็นลูกค้าของห้างฯบิ๊กซี
แม้จะฟังว่าห้างฯโฮมโปรเช่าพื้นที่จำหน่ายสินค้าในห้างฯบิ๊กซี ก็ไม่ปรากฏว่ามีข้อสัญญาระหว่างห้างฯโฮมโปรกับห้างฯบิ๊กซีเกี่ยวกับความรับผิดกรณีที่รถยนต์ของลูกจ้างห้างฯโฮมโปรสูญหายเพราะถูกคนร้ายลักไป
การที่คนร้ายลักรถยนต์ของพนักงานห้างฯโฮมโปรไปจึงไม่ได้เกิดจากการงดเว้นการปฏิบัติหน้าที่ของห้างฯบิ๊กซี อันจะถือว่าเป็นควาประมาทเลินเล่อ ห้างฯบิ๊กซีจึงไม่ต้องรับผิดในความสูญหายของรถยนต์
กรณีรถยนต์สูญหายในห้างสรรพสินค้าบิ๊กซีและห้างฯทำสัญญาประกันภัยไว้ด้วย (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 699/2560)
การที่จำเลยซึ่งประกอบธุรกิจห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่จำหน่ายสินค้าและให้บริการแก่ลูกค้าจำเลยต้องให้ความสำคัญด้านบริการทั้งเรื่องสินค้าความปลอดภัยและความสะดวกสบายเพื่อสร้างความพึงพอใจเป็นแรงจูงใจให้ลูกค้ามาใช้บริการและซื้อสินค้าอันจะส่งผลต่อรายได้ของจำเลยโดยเฉพาะการบริการเกี่ยวกับสถานที่จอดรถที่กว้างขวาง มีปริมาณเพียงพอ สะดวกสบาย ย่อมมีผลต่อการตัดสินใจของลูกค้าที่จะมาใช้บริการห้างสรรพสินค้า
ดังนั้นจำเลยย่อมมีหน้าที่ต้องดูแลและรักษาความปลอดภัยในทรัพย์สินของลูกค้าที่มาใช้บริการรวมถึงรถยนต์ของลูกค้าที่นำมาจอดบริเวณลานจอดรถของห้างสรรพสินค้าด้วย จำเลยควรมีมาตรการรักษาความปลอดภัยที่เข้มงวดรัดกุมโดยจัดหาพนักงานรักษาความปลอดภัยไว้คอยตรวจสอบดูแลเพื่อป้องกันไม่ให้รถยนต์ของลูกค้าสูญหาย
การที่จำเลยมิได้จัดให้มีพนักงานรักษาความปลอดภัยเพื่อดูแลทรัพย์สินของลูกค้าและไม่มีมาตรการในการระมัดระวังมิให้คนร้ายเข้ามาลักรถยนต์ของลูกค้า คงมีเพียงกล้องวงจรปิดที่ใช้บันทึกภาพรถยนต์ที่ผ่านเข้าออกเท่านั้น ซึ่งมาตรการดังกล่าวยังไม่เพียงพอต่อการรักษาความปลอดภัยให้แก่ลูกค้า การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำโดยประมาทปราศจากความระมัดระวัง
เมื่อคนร้ายลักรถยนต์ของผู้เอาประกันภัยไป จึงถือว่าจำเลยกระทำละเมิดต่อผู้เอาประกันภัยจำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้เอาประกันภัยเมื่อห้างสรรพสินค้าของจำเลยทำสัญญาประกันภัยไว้กับจำเลยร่วมโดยกรมธรรม์ประกันภัยระบุความรับผิดในเรื่องความเสียหายของ ผู้มาเยือนไว้ว่าความเสียหายต่อทรัพย์สินจากผลกระทบส่วนบุคคล (รวมถึงยานพาหนะและส่วนที่เกี่ยวข้อง) ครอบครองโดยกรรมการผู้มาเยือนหรือลูกจ้างของผู้เอาประกันภัย ซึ่งความเสียหายดังกล่าวหมายความรวมถึงความสูญหายด้วย
ดังนั้น เมื่อรถยนต์ของลูกค้าสูญหายในบริเวณพื้นที่ลานจอดรถของห้างสรรพสินค้าของจำเลยแม้จะเกิดจากการกระทำของบุคคลภายนอกแต่จำเลยในฐานะผู้เอาประกันภัยตามกรมธรรม์ประกันภัยต้องรับผิดในความสูญหายของรถยนต์เนื่องจากความประมาทเลินเล่อของจำเลย
จำเลยร่วมในฐานะผู้รับประกันภัยจึงต้องร่วมรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยด้วยเมื่อกรมธรรม์ประกันภัยระบุให้จำเลยต้องรับผิดในความเสียหายส่วนแรกโดยจำเลยร่วมในฐานะผู้รับประกันภัยรับผิดเฉพาะส่วนที่เกินวงเงินที่ระบุไว้ จำเลยร่วมก็คงรับผิดเฉพาะส่วนที่เกินค่าเสียหายในส่วนแรกเท่านั้น เมื่อจำเลยร่วมเป็นเพียงผู้รับประกันภัยมีความผูกพันที่จะต้องร่วมรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความวินาศภัยอันเกิดขึ้นตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยเท่านั้น ไม่ใช่ผู้ทำละเมิดหรือต้องร่วมรับผิดกับผู้ทำละเมิดอย่างลูกหนี้ร่วม
จำเลยร่วมจึงไม่ต้องรับผิดในดอกเบี้ยนับแต่วันทำละเมิด เมื่อหนี้ตามกรมธรรม์ประกันภัยไม่ได้กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ตามวันแห่งปฏิทินและโจทก์มิได้ทวงถามให้จำเลยร่วมชำระหนี้จึงยังถือไม่ได้ว่าจำเลยร่วมตกเป็นผู้ผิดนัดก่อนที่โจทก์ฟ้องคดี จำเลยร่วมจึงต้องรับผิดในดอกเบี้ยนับแต่วันที่จำเลยขอให้หมายเรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 57 (3) เป็นต้นไป
ปัญหาเรื่องการกำหนดความรับผิดเกินกว่าความรับผิดตามกฎหมายเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 142 (5)
กรณีรถยนต์สูญหายในห้างสรรพสินค้าเทสโก้โลตัสฯ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15434/2558)
จำเลยประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคโดยจัดสร้างห้างสรรพสินค้ามีพื้นที่จำหน่ายสินค้าและให้บริการอย่างกว้างขวาง การที่จำเลยต้องจัดให้มีสถานที่จอดรถ เพื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 8 (9) เป็นมาตรฐานเกี่ยวกับการควบคุมอาคาร ในขณะเดียวกันจำเลยก็ได้รับผลประโยชน์จากการจัดให้มีที่จอดรถดังกล่าวเนื่องจากจำเลยประกอบกิจการโดยมุ่งแสวงหากำไรจากยอดจำหน่ายสินค้าและบริการ ลูกค้าที่จะเข้ามาซื้อสินค้าหรือใช้บริการห้างสรรพสินค้าของจำเลยย่อมต้องการความสะดวกในการนำรถยนต์มาจอดไว้
การจัดให้มีที่จอดรถไว้บริการแก่ลูกค้าจึงช่วยสนับสนุนกิจการของจำเลยให้มีรายได้เพิ่มยิ่งขึ้นไม่เช่นนั้นจำเลยก็คงไม่จัดทำลานจอดรถไว้อย่างกว้างขวาง โดยได้ความจากพยานของจำเลยด้วยว่าห้างสรรพสินค้าของจำเลยได้จัดสถานที่จอดรถไว้มากกว่าที่กฎหมายกำหนดเช่นนี้ย่อมประกอบเป็นข้อบ่งชี้ว่า
จำเลยอาศัยการมีที่จอดรถที่กว้างขวางโดยมีการบริหารจัดการดูแลพื้นที่ของจำเลยเกื้อหนุนการชักนำลูกค้าให้เข้ามาซื้อสินค้าหรือใช้บริการของจำเลย ผู้ประกอบการ เช่น จำเลย ย่อมนำค่าใช้จ่ายในการจัดให้มีที่จอดรถไปรวมกับต้นทุนในการดำเนินการทางธุรกิจ การกำหนดราคาขายสินค้าหรือบริการของจำเลยจึงรวมต้นทุนในส่วนนี้เท่ากับจำเลยได้รับราคาสินค้าหรือค่าบริการจากลูกค้าเป็นผลประโยชน์ตอบแทนในการที่จำเลยจัดให้มีที่จอดรถ
เช่นนี้จำเลยในฐานะผู้ประกอบธุรกิจที่ได้จัดให้มีที่บริการที่จอดรถมีผลต่อยอดการจำหน่ายสินค้าหรือบริการของจำเลยต้องดูแลสถานที่จอดรถซึ่งมีไว้บริการลูกค้าซึ่งเป็นผู้บริโภคให้มีความปลอดภัยตามสมควร
เมื่อจำเลยไม่ได้กำหนดให้มีการแจกและคืนบัตรจอดรถโดยมีพนักงานรักษาความปลอดภัยประจำที่ทางเข้าออกเพื่อคอยตรวจตราอันเป็นมาตรการที่จะป้องกันไม่ให้รถยนต์ที่ลูกค้านำมาจอดไว้ถูกลักและนำออกไปจากพื้นที่หากไม่มีการคืนบัตรจอดรถ จำเลยควรคาดเห็นได้ว่าอาจมีคนร้ายเข้ามาลักรถยนต์ที่จอดไว้และนำออกไปได้โดยง่าย ดังนั้นจำเลยต้องให้พนักงานรักษาความปลอดภัยทำการสอดส่องตรวจตราและสังเกตการณ์บริเวณลานจอดรถให้ทั่วถึงรัดกุมมากขึ้นเพื่อดูแลรักษาความปลอดภัยรถยนต์ซึ่งเป็นทรัพย์สินของลูกค้าผู้มาใช้บริการของจำเลย
เมื่อปรากฏว่าพื้นที่ลานจอดรถด้านหน้าของจำเลยจอดรถได้ประมาณ 400 คัน มีพนักงานรักษาความปลอดภัยปฏิบัติหน้าที่เพียง 1 คน การที่จำเลยกำหนดให้มีพนักงานรักษาความปลอดภัยประจำลานจอดรถซึ่งมีพื้นที่กว้างขวางเพียงคนเดียว เห็นได้ว่า
เป็นการจัดพนักงานรักษาความปลอดภัยที่ไม่เพียงพอแก่การตรวจตราและสังเกตการณ์บริเวณลานจอดรถทั้งที่จำเลยเป็นผู้ให้บริการลานจอดรถและได้รับผลประโยชน์จากการที่ผู้ขับรถยนต์มาจอดในลานจอดรถได้เข้ามาซื้อสินค้าหรือใช้บริการในห้างสรรพสินค้าของจำเลย แต่จำเลยกลับไม่ดำเนินการให้เหมาะสมเพียงพอเพื่อดูแลความปลอดภัยแก่รถยนต์ที่ผู้มาใช้บริการของจำเลยนำมาจอดไว้
ถือได้ว่าเป็นการงดเว้นในการปฏิบัติหน้าที่และเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อจากการงดเว้นดังกล่าวเป็นเหตุให้มีคนร้ายลักรถยนต์ของผู้เอาประกันภัยไปอันเป็นการทำละเมิดต่อผู้ประกันภัย จำเลยจึงต้องรับผิดในความสูญหายของรถยนต์ที่เอาประกันภัย
กรณีทรัพย์สินของร้านเช่าภายในห้างสรรพสินค้าสูญหาย (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8622/2559)
จำเลยเป็นเจ้าของอาคารห้างสรรพสินค้าเทสโก้โลตัส สาขาสิงห์บุรี ได้ให้บริษัทโฟโต้ฮัท กรุ๊ปประเทศไทย จำกัด ผู้เอาประกันภัยของโจทก์ เช่าพื้นที่ในอาคารเพื่อประกอบกิจการร้านโฟโต้ฮัท โดยจำเลยเป็นผู้ให้บริการเพื่ออำนวยความสะดวกและการใช้ประโยชน์พื้นที่เช่า ซึ่งตามสัญญาบริการระหว่างผู้เช่าร้านค้ากับจำเลยมีสัญญาข้อหนึ่ง ระบุว่า
จำเลยจะจัดให้มีการรักษาความปลอดภัยทั่วไปของอาคารสถานที่ ดังนั้นจำเลยจึงมีหน้าที่ต้องดูแลอาคารสถานที่รวมทั้งพื้นที่เช่าให้มีความปลอดภัย สำหรับการรักษาความปลอดภัยอาคารสถานที่ดังกล่าว จำเลยว่าจ้างจำเลยร่วมเป็นผู้บริการ เช่นนี้ จำเลยร่วมจึงต้องจัดพนักงานรักษาความปลอดภัยปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามข้อสัญญา เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าในคืนวันเกิดเหตุ
หลังจากห้างสรรพสินค้าของจำเลยปิดทำการแล้ว มีคนร้ายทุบกระจกห้างสรรพสินค้าของจำเลย ส่วนที่เป็นหน้าร้านโฟโต้ฮัท ของผู้เอาประกันภัย แล้วเข้าไปลักเอากล้องถ่ายรูปและอุปกรณ์กล้องถ่ายรูป ซึ่งเป็นสินค้าที่ตรวจรับประกันภัยไว้ เมื่อถึงเวลาปิดทำการ ผู้เช่าพื้นที่จะต้องออกจากพื้นที่ของจำเลยทุกราย การจัดเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยจำเลยจะต้องรับผิดชอบ ผู้เช่าพื้นที่ไม่สามารถดำเนินการเองได้ ดังนี้แสดงว่า
ในช่วงเวลาที่ห้างสรรพสินค้าของจำเลยปิดทำการ จำเลยสามารถควบคุมดูแลพื้นที่ของห้างได้โดยเด็ดขาดเพราะไม่มีบุคคลอื่นอยู่ในพื้นที่อีก คงมีเฉพาะพนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยร่วมที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ตรวจตราดูแลความปลอดภัยเท่านั้น
การที่คนร้ายเข้ามาทุบกระจกห้างสรรพสินค้าของจำเลยส่วนที่เป็นหน้าร้านจนแตกเป็นช่องขนาดใหญ่ แล้วเข้าไปลักเอาทรัพย์สินภายในร้านจำนวนมาก เป็นพฤติการณ์ที่คนร้ายเข้าโจรกรรมทรัพย์สินโดยไม่ได้กระทำในลักษณะซ่อนเร้น บริเวณที่เกิดเหตุอยู่ใกล้ทางเข้าห้าง สรรพสินค้าของจำเลยเป็นจุดที่สามารถมองเห็นได้โดยง่าย หากพนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยร่วม ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความระมัดระวัง โดยทำการตรวจตราสอดส่องอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะเมื่อเป็นช่วงเวลากลางคืน ซึ่งมักเกิดเหตุโจรกรรมทรัพย์สินก็น่าจะช่วยป้องกันหรือระงับโจรกรรมได้
เหตุคดีนี้จึงเกิดจากการตรวจตราที่ไม่เพียงพอของพนักงานรักษาความปลอดภัย ทำให้คนร้ายเข้ามาลักเอาทรัพย์สินของผู้เอาประกันภัยไป จึงเป็นความประมาทเลินเล่อของพนักงานรักษาความปลอดภัยซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยร่วม อันเป็นการทำละเมิดต่อผู้เอาประกันภัย เมื่อลูกจ้างของจำเลยร่วมกระทำละเมิดในทางการที่จ้าง จำเลยร่วมจึงต้องรับผิดในผลแห่งละเมิดซึ่งลูกจ้างของตนได้กระทำไป ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 425
เรื่องที่คุณอาจพลาด
วิดีโอยอดนิยม
https://ift.tt/XEo6ZgC
รถยนต์
Bagikan Berita Ini
0 Response to "ศาลฎีกาเปิดแนวคำพิพากษา 5 คดี "รถยนต์หายในห้างสรรพสินค้า" - PPTVHD36"
Post a Comment