2035 จะกลายเป็นปีที่ถูกจดจำและถูกบันทึกลงในหน้าประวัติศาสตร์ของอุตสาหกรรมรถยนต์โลกอย่างแน่นอน เพราะว่าจะเป็นปีที่มีการลงมติให้บริษัทรถยนต์ที่มีธุรกิจอยู่ในยุโรปเลิกผลิตและจำหน่ายรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายในอย่างสิ้นเชิง ท่ามกลางเสียงคัดค้านจากผู้ผลิตรถยนต์บางส่วนที่ยังไม่เห็นด้วย เพราะนั่นเท่ากับว่า ยุโรปกำลังเร่งกระบวนการในการเข้าสู่ยุคของการใช้รถยนต์พลังไฟฟ้าเร็วเกินไป เกินกว่าที่ระบบซัพพลายเชนของการผลิตรถยนต์แบบเดิมๆ จะปรับตัวทันแม้ว่าจะยังเหลืออีกถึง 13 ปีก่อนถึงเส้นตายนี้ก็ตาม
รัฐสภายุโรปผ่านร่าง ชนะแบบขาดลอย
เรื่องนี้กลายเป็นประเด็นขึ้นมาเมื่อการประชุมของกลุ่มประเทศสมาชิกในสหภาพยุโรปจัดการประชุมขึ้นที่เมืองสตาร์บูร์ก ประเทศฝรั่งเศส ต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา พร้อมกับยกเรื่องข้อกำหนดในการระบุให้ผู้ผลิตรถยนต์ที่มีรถยนต์ขายในยุโรปตะวันตกจำนวน 27 ประเทศที่เป็นสมาชิกของสหภาพยุโรปจะต้องเลิกจำหน่ายรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายในอย่างสิ้นเชิงภายในปี 2035 เพื่อเป็นการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
นอกจากนั้น ทางสมัชชาของสหภาพยุโรปยังประกาศรับรองข้อกำหนดให้ผู้ผลิตรถยนต์ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่มาจากรถยนต์นั่งให้ลดลงถึง 55% และรถตู้หรือรถแวนจำนวน 50% ภายในปี 2030 และนั่นเท่ากับว่าการเคลื่อนไหวครั้งนี้จะทำให้ภาระผูกพันที่กับบรรดาผู้ที่อยู่ในอุตสาหกรรมรถยนต์ในแง่ของการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ตลอดในช่วงทศวรรษนี้ และหมายความว่าถ้าจะให้บรรลุตามข้อกำหนดนี้ บริษัทรถยนต์จะต้องดำเนินการใดๆ ก็ตามให้รถยนต์ของตัวเองมีการปล่อยก๊าซนี้ลดลงเฉลี่ยต่อเดือนเมื่อเปรียบเทียบกับปีที่แล้วถึง 37.5% เลยทีเดียว ซึ่งถือว่าไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลย
ในปัจจุบัน รถยนต์ส่วนตัวที่อยู่ใน 27 ประเทศที่เป็นสมาชิกของสหภาพยุโรปนั้น มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมามากถึง 12% และอีก 2.5% สำหรับรถตู้หรือรถแวน จากจำนวนการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั้งหมด และจะเพิ่มขึ้นเป็น 25% เมื่อนับรวมระบบขนส่งทั้งหมด
แน่นอนว่าการลงคะแนนเสียงครั้งนี้มาพร้อมกับคะแนนเห็นชอบที่เหนือจากฝ่ายที่คัดค้านค่อนข้างมาก ด้วยคะแนนโหวต 339 ต่อ 249 เสียง และงดออกเสียงจำนวน 24 เสียง นั่นเท่ากับว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาคือ ผลกระทบต่อระบบซัพพลายเชนทั้งหมดที่มีความเกี่ยวข้องกับการผลิตรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายในทั้งเบนซินและดีเซลซึ่งมีมานานกว่า 100 ปีกำลังได้รับผลกระทบอย่างหนักและเฉียบพลันกว่าที่เคยเกิดขึ้นก่อนหน้านี้
หลากความเห็นทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย
สิ่งที่เกิดขั้นกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้าง โดยเฉพาะจากบริษัทรถยนต์ที่มีเสียงแตกออกมาทั้งในส่วนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยทางด้าน BMW เสนอรัฐสภายุโรปให้เลื่อนการบังคับยุติการจำหน่ายรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปออกไปอย่างน้อยจนถึงปี 2040 โดยก่อนหน้านั้น ทางด้าน Oliver Zipse ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ BMW ได้ให้สัมภาษณ์เมื่อเดือนมีนาคมว่า การตั้งเป้าให้ไม่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 100% จากรถยนต์ภายในปี 2035 ถือเป็นเรื่องอันตรายมากสำหรับค่ายรถยุโรป เนื่องจากวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็นลิเธียม, โคบอลต์, นิกเกิล, แมงกานีส, และอื่น ๆ ต้องนำเข้าจากต่างชาติ อีกทั้งสงครามรัสเซีย - ยูเครน ยังทำให้ราคาวัตถุดิบเหล่านี้พุ่งทะยานอีกด้วย
นอกจากนั้น พรรคอนุรักษ์นิยมยุโรป (EPP) ซึ่งเป็นกลุ่มสมาชิกสภานิติบัญญัติที่ใหญ่ที่สุดของรัฐสภาได้พยายามผลักดันการประนีประนอมซึ่งจะทำให้ข้อเสนอนี้ลดความเข้มงวด และควรอนุญาตให้การขายรถยนต์ไฮบริดดำเนินต่อไป เพราะจะเป็นทางเลือกสายกลางที่ทำให้อุตสาหกรรมรถยนต์ไม่เจอกับแรงกดดันมหาศาลในด้านความเปลี่ยนแปลงแบบเฉียบพลัน อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอของพวกเขาก็ถูกปัดตกลงไป
ขณะที่ค่ายรถยุโรปที่ให้การสนับสนุนและมีแผนยุติการขายรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปในปี 2035 คือ Ford, Volvo และ Volkswagen ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางและแนวนโยบายที่ทางสหภาพยุโรปกำหนดเอาไว้
นอกจากนี้ ยังมีบางประเทศ เช่น เบลเยียม และเนเธอร์แลนด์ที่เห็นว่าการยุติการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากรถยนต์อย่างสิ้นเชิงภายในปี 2035 นั้นยังช้าเกินไป และควรรีบดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในปี 2030 ด้วยซ้ำ ซึ่งประเทศที่มีแนวคิดลักษณะนี้จะมีสิ่งที่ร่วมกันคือ เป็นประเทศที่มีตลาดรถยนต์ไม่ใหญ่ยอดขายไม่สูง มีการใช้จักรยานหรือระบบขนส่งในการเดินทางเป็นหลัก และเป็นประเทศที่พยายามผลักดันให้มีการใช้รถยนต์ไฟฟ้ามาตั้งแต่แรกเริ่ม
จะมีก็เพียงอังกฤษที่ออกจากสหภาพยุโรปไปแล้วตั้งแต่วันที่ 31 มกราคม 2020 ซึ่งแม้ว่าข้อกำหนดนี้จะไม่มีผลอะไรต่อพวกเขา แต่ทางรัฐบาลอังกฤษก็มีการประกาศข้อกำหนดที่มีลักษณะเดียวกัน และสอดคล้องกับสิ่งที่เกิดขึ้นในสหภาพยุโรป นั่นคือ ภายในปี 2030 จะยกเลิกการขยายรถยนต์ใหม่ไม่ว่าจะรถยนต์นั่งหรือรถตู้ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน และภายในปี 2035 รถยนต์ใหม่ที่ขายในอังกฤษจะเป็นรถยนต์ที่ปลอดมลพิษ 100%
ซัพพลายเชนต้องรีบเปลี่ยนถ้าอยากอยู่รอด
ความเปลี่ยนแปลงจากรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายในที่เราคุ้นเคยกันมากว่า 100 ปีมาสู่การขับเคลื่อนด้วยพลังไฟฟ้านั้นถือว่าทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแบบเฉียบพลันและอาจจะทำให้บรรดาซัพพลายเออร์ของบริษัทรถยนต์ทั้งหลายได้รับผลกระทบอย่างหนักหน่วงและรุนแรง
จริงๆ แล้วประเด็นนี้ถูกพูดถึงกันมาตลอดช่วงทศวรรษที่ 2010 หลังจากที่อุตสาหกรรมรถยนต์เริ่มหยั่งเท้าลงในการผลิตรถยนต์พลังไฟฟ้าแบบ BEV ซึ่งทำให้บรรดาผู้ผลิตชิ้นส่วนสามารถทำนายและคาดเดากับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตเพื่อเตรียมตัวรับมือกับคลื่นลูกใหญ่ที่กำลังทะยานเข้าหาฝั่ง
แน่นอนว่ารถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายในและรถยนต์พลังไฟฟ้าหรือ BEV ไม่ได้มีความแตกต่างกันในแบบหน้ามือเป็นหลังมือ ชิ้นส่วนหลายอย่างยังสามารถใช้ร่วมกันได้ ดังนั้น บรรดาผู้ผลิตรถยนต์ที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดสำหรับความเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้คือ บรรดาผู้ผลิตชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้องกับเครื่องยนต์ และเกียร์ ในขณะที่ส่วนอื่นๆ นั้นได้รับผลกระทบมากบ้างน้อยบ้างลดหลั่นกันไป
การใช้ชิ้นส่วนที่ลดลงของรถยนต์พลังไฟฟ้านั้นถือเป็นอีกโจทย์ของความท้าทายในแง่ของการผลิตในเชิงพาณิชย์ตามหลักของ Economy of Scale ด้วยเช่นกัน เพราะการที่ตลาดยังไม่เติบโตเต็มที่ทำให้ปริมาณความต้องการรถยนต์ประเภทนี้มีจำนวนไม่มากนัก การกดให้ราคาอยู่ในระดับที่ถูกลงด้วยการผลิตจำนวนมากจึงเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยากในช่วง 10 ปีนับจากนี้
แม้ว่าตลอดช่วงที่ผ่านมา ผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์หลายรายต่างปรับตัวเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลง แต่ก็ยังไม่มีใครคาดคิดว่าจะต้องเจอกับความเปลี่ยนแปลงแบบกะทันหันในครั้งนี้
ผู้ผลิตแบตเตอรี่จะผงาด
กว่า 40% ของส่วนประกอบในรถยนต์ไฟฟ้านั้นคือ เรื่องของแบตเตอรี่ และนั่นทำให้ผู้เล่นหน้าใหม่ที่ในอดีตไม่เคยอยู่ในตลาดรถยนต์มาก่อนอย่างผู้ผลิตแบตเตอรี่จะเข้ามามีส่วนอย่างมาก จีน เกาหลี และญี่ปุ่นจะกลายเป็นผู้เล่นหลักในการผลิตแบตเตอรี่
แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนเป็นที่นิยมมากที่สุดในการใช้ในรถยนต์พลังไฟฟ้า BEV เนื่องจากมีน้ำหนักเบา ขนาดเล็ก และเก็บพลังงานได้มาก การผลิตแบตเตอรี่เหล่านี้ต้องการวัตถุดิบหลักบางอย่าง เช่น ลิเธียม นิกเกิล และโคบอลต์ ผู้ผลิตลิเธียมดิบรายใหญ่ ได้แก่ ออสเตรเลีย ชิลี จีน และอาร์เจนตินา ส่วนอุตสาหกรรมการขุดนิกเกิล โคบอลต์ และโลหะอื่นๆ ส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในประเทศจีน แอฟริกาใต้ อินโดนีเซีย และสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก (DRC) ตัวอย่างเช่น ใน DRC เพียงที่เดียว มีการผลิตโคบอลต์มากกว่า 70% ของโลก แต่ด้วยเรื่องของระบบสาธารณูปโภคและความมั่นคงทางด้านการเมือง ทำให้กลุ่มบริษัทที่ลงทุนในเรื่องนี้อาจจะมองหาทางเลือกอื่นแทน
คงเป็นเรื่องยากที่จะปรับเปลี่ยนกลุ่มประเทศที่ผูกขาดการผลิตแบตเตอรี่ออกจาก 3 ประเทศนี้ นอกเสียจากว่าจะสามารถหารูปแบบของการกักเก็บกระแสไฟฟ้าที่แตกต่างจากที่เป็นผู้ในปัจจุบันโดยที่จะต้องใช้วัตถุดิบที่นอกเหนือจากพวกเธียม นิกเกิล และโคบอลต์ขึ้นมา แต่ดูแล้วน่าจะเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก
ความเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ต้องรอดูกันต่อไปว่าการปรับเปลี่ยนชนิดที่เร่งฝีเท้าและลดระยะเวลาในความเปลี่ยนแปลงให้กระชั้นขึ้นจะสร้างผลกระทบอะไรบ้างต่อภาพรวมของอุตสาหกรรมรถยนต์
https://ift.tt/vaeJfhB
รถยนต์
Bagikan Berita Ini
0 Response to "EU เร่งฝีเท้า ปี 2035 ยกเลิกผลิตรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายใน - ผู้จัดการออนไลน์"
Post a Comment