Search

โควิด-19 ระลอกใหม่พันธุ์เดลตา ส่งผลกระทบตลาดรถยนต์เป็นโดมิโน - ผู้จัดการออนไลน์



หลังสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ ที่สายพันธุ์เดลตาได้กลายมาเป็นภัยคุกคามหลัก และส่งผลให้จำนวนผู้ติดเชื้อในหลายๆ ประเทศรวมทั้งไทยกลับมาพุ่งขึ้นอีกครั้งและมีแนวโน้มจะกระทบต่อเศรษฐกิจของแต่ละประเทศในระยะยาวหากไม่สามารถจำกัดวงการแพร่ระบาดได้ ซึ่งจากผลของการกลับมาระบาดอย่างรุนแรงในรอบนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ปรับประมาณการทิศทางอุตสาหกรรมรถยนต์ไทยปี 2564 ใหม่ โดยมีรายละเอียดดังนี้

ในกรณีดีที่การแพร่ระบาดทั้งในไทยและต่างประเทศโดยเฉพาะอาเซียนสามารถกลับเข้าสู่ระดับใกล้เคียงกับช่วงเดือนมิถุนายนได้ภายในไตรมาสที่ 3 ทำให้ยอดขายในประเทศของไทยและการส่งออกสามารถฟื้นคืนสู่ระดับปกติในเวลาไม่นาน ประกอบกับการติดเชื้อไม่ทำให้เกิดเหตุต้องหยุดการผลิตเป็นระยะเวลานาน ไทยจึงยังสามารถเร่งผลิตรถยนต์ชดเชยได้ตามความต้องการจริงในตลาด

โดยยอดขายรถยนต์ในประเทศ คาดว่าจะได้รับผลกระทบอย่างมากในช่วงเดือนสิงหาคมและกันยายนต่อเนื่องจากเดือนกรกฎาคม จากผลของกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่หยุดชะงักและกำลังซื้อที่ลดลง แต่สถานการณ์ที่ทยอยดีขึ้นในไตรมาส 4 บวกกับการเริ่มปรับลดราคารถยนต์ลงและการแข่งขันใช้โปรโมชั่นส่งเสริมการตลาดที่เพิ่มขึ้น คาดว่าจะทำให้ยอดขายรถยนต์อาจทำได้ถึง 750,000 คัน (-5.3%YoY) ในปี 2564


ปริมาณการส่งออกในกรณีนี้คาดว่าประเทศในกลุ่มอาเซียนซึ่งคิดเป็นสัดส่วนราว 1 ใน 4 ของปริมาณการส่งออกทั้งหมด แม้จะได้รับผลกระทบจากโควิดแต่ก็มีโอกาสจะจัดการจนอยู่ในระดับเดียวกับเดือนมิถุนายนได้ภายในช่วงไตรมาส 3 เช่นกัน ซึ่งในกรณีนั้นคาดว่าปริมาณการส่งออกไปกลุ่มอาเซียนจะปรับลดลงกว่าที่ควรจะทำได้ 30% อย่างไรก็ตาม แรงหนุนจากการที่ค่ายรถย้ายฐานผลิตเข้าสู่ไทยเพื่อส่งออกมากขึ้น ประกอบกับตลาดหลักอื่นยังมีโอกาสขยายตัวได้เนื่องจากปัจจุบันผู้บริโภคหันมานิยมใช้รถส่วนตัวแทนการเดินทางสาธารณะมากขึ้น ขณะเดียวกันยอดผลิตเพื่อส่งมอบในปัจจุบันก็ยังน้อยกว่าความต้องการจริงที่เพิ่มขึ้นอยู่พอสมควรในหลายประเทศจึงยังมีโอกาสให้ส่งออกได้อีกมาก ส่งผลให้ปริมาณการส่งออกปี 2564 ไทยมีโอกาสทำได้ถึง 950,000 คัน (+29.0%YoY)

ปริมาณการผลิต คาดว่าอาจได้รับผลกระทบไม่มาก โดยค่ายรถอาจเผชิญกับภาวะที่ต้องระงับการผลิตเป็นการชั่วคราวบ้าง เช่น 14 วัน จากการที่โรงงานในห่วงโซ่อุปทานชิ้นส่วนบางส่วนมีการติดโควิดเป็นจำนวนมาก ซึ่งในแต่ละรอบของการเกิดเหตุการณ์ที่หากเกิดขึ้นกับทุกค่ายรถ จะส่งผลให้การผลิตรถยนต์ต้องหายไปประมาณ 70,000 คันในช่วงเวลาดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ค่ายรถและผู้ผลิตชิ้นส่วนยังมีโอกาสที่จะใช้วิธีเร่งรอบการผลิตเพิ่มขึ้นหลังจากกลับมาเปิดโรงงานเพื่อชดเชยในภายหลังได้ในช่วงที่สถานการณ์เริ่มคลี่คลายมากขึ้น เนื่องจากความต้องการรถยนต์ที่ผลิตจากไทยยังมีสูงในต่างประเทศ และไทยเองก็มีศักยภาพและกำลังการผลิตเหลือมากพอ ส่งผลให้การผลิตรถยนต์ปี 2564 ในกรณีดีนี้มีโอกาสทำได้ 1,680,000 คัน (+17.5%YoY)

ส่วนกรณีเลวร้ายที่การแพร่ระบาดยืดเยื้อและกว่าไทยและประเทศในอาเซียนจะทำให้ปริมาณผู้ติดเชื้อใหม่ลดลงไปสู่ระดับเดือนมิถุนายนได้ก็เป็นช่วงปลายปีแล้ว ทำให้ระบบเศรษฐกิจได้รับผลกระทบในระดับที่มากกว่า ส่งผลต่อยอดขายรถยนต์ในประเทศที่ลดลงรวมถึงการส่งออก เมื่อบวกเข้ากับกรณีที่หากเกิดการปิดโรงงานประกอบรถยนต์ในระยะเวลานานกว่ากรณีแรกหรือราว 1 เดือน โอกาสที่จะมาเร่งผลิตชดเชยในช่วงที่สถานการณ์ดีขึ้นในภายหลังจะทำได้ยากกว่า


ทั้งนี้ ยอดขายรถยนต์ในประเทศ คาดว่าน่าจะได้รับผลกระทบถึงช่วงไตรมาสสุดท้ายจากกำลังซื้อและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับภาคธุรกิจเองก็น่าจะฟื้นตัวได้ลำบากในปีนี้ ทำให้โอกาสในการปล่อยสินเชื่อของบริษัทผู้ให้สินเชื่อยิ่งมีความเข้มงวดมากขึ้น การแข่งขันใช้โปรโมชั่นส่งเสริมการตลาดของค่ายรถจึงอาจไม่ช่วยตลาดโดยรวมได้มากเท่าไรนัก ส่งผลให้ยอดขายรถยนต์อาจทำได้เพียง 720,000 คัน (-9.0%YoY) ในปี 2564

ปริมาณการส่งออกมีโอกาสได้รับผลกระทบจากการส่งออกไปประเทศในอาเซียนที่ลดลงไป 60% จากระดับที่ควรจะเป็น ขณะที่คู่ค้าหลักอื่นก็ได้รับผลกระทบเช่นกันแต่ในระดับที่ต่ำกว่า สืบเนื่องจากระยะเวลาการแพร่ระบาดที่ยาวนานในแต่ละประเทศ โดยคาดว่าปริมาณการส่งออกปี 2564 ไทยมีโอกาสทำได้เพียง 890,000 คัน (+21.0%YoY)

ปริมาณการผลิต อาจได้รับผลกระทบมาก หากการแพร่ระบาดควบคุมได้ยากจนทำให้มีผู้ติดเชื้อจำนวนมากและส่งผลให้มีการติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อนในโรงงานผลิตชิ้นส่วนหรือโรงงานประกอบรถในจำนวนที่มากขึ้น ทำให้ค่ายรถแต่ละค่ายอาจต้องเผชิญกับภาวะที่ต้องระงับการผลิตถึงกว่า 1 เดือน ส่งผลให้การผลิตรถยนต์ในช่วงที่ปิดโรงงานมีโอกาสต้องหายไปรวมกันประมาณ 140,000 คัน ซึ่งการผลิตที่กระท่อนกระแท่นและได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วยในระยะเวลาที่เหลืออีกเพียงไม่กี่เดือนก่อนจะหมดปี อาจทำให้แม้จะเร่งรอบการผลิตขึ้นมาเพื่อชดเชยในภายหลังก็อาจจะทำได้ไม่ทั้งหมด ส่งผลให้การผลิตรถยนต์ปี 2564 ในกรณีเลวร้ายมีโอกาสทำได้เพียง 1,600,000 คัน (+12.0%YoY)


จากสถานการณ์โควิดที่แพร่ระบาดมากขึ้นในปัจจุบันดังกล่าว ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมได้เริ่มมีการปรับตัวโดยใช้แนวทางการสต๊อกชิ้นส่วนเพิ่มขึ้น เพื่อให้สายพานการผลิตยังดำเนินต่อได้ นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าประเด็นสำคัญอีกด้านที่ควรต้องดำเนินการควบคู่กัน คือ การร่วมมือกันเพื่อเร่งจำกัดวงของการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว

ตั้งแต่เริ่มมีการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในปีที่แล้ว ทั้งค่ายรถและผู้ผลิตชิ้นส่วนได้มีการดำเนินการสต๊อกชิ้นส่วนในระดับหนึ่งมาอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว แต่ในสถานการณ์การระบาดที่เพิ่มขึ้นเป็นวงกว้างและยังไม่อาจคาดเดาได้ว่าจะแย่ลงไปกว่าระดับปัจจุบันหรือไม่ ทางผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมรถยนต์และชิ้นส่วน ต่างได้มีการยกระดับมาตรการสต๊อกชิ้นส่วนเพิ่มมากขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงจากการปิดโรงงานที่อาจเกิดขึ้นได้

อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าประเด็นสำคัญอีกด้านที่ควรเกิดขึ้นควบคู่กัน คือ การร่วมมือกันเพื่อเร่งจำกัดวงของการแพร่ระบาดให้เร็วที่สุด ไม่ว่าจะเป็น การเร่งตรวจหาเชื้อระหว่างมาตรการล็อกดาวน์ในกลุ่มโรงงานที่มีความเสี่ยงสูงของภาครัฐ ขณะที่ฝั่งของผุ้ประกอบการในอุตสาหกรรมเองก็จำเป็นต้องดำเนินมาตรการควบคุมดูแลการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในโรงงานอย่างเข้มข้นมากขึ้นด้วย โดยเฉพาะการแยกบุคคลที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงออกมาอย่างรวดเร็ว ส่วนในอนาคต การนำหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมาใช้เพิ่มขึ้น จะเป็นอีกหนึ่งแนวทางที่ค่ายรถและผู้ผลิตชิ้นส่วนมีโอกาสมากที่จะนำมาใช้เพื่อลดความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสต่าง ๆ รวมถึงลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานควบคู่ไปด้วย

Adblock test (Why?)

อ่านบทความและอื่น ๆ ( โควิด-19 ระลอกใหม่พันธุ์เดลตา ส่งผลกระทบตลาดรถยนต์เป็นโดมิโน - ผู้จัดการออนไลน์ )
https://ift.tt/2VykaHU
รถยนต์

Bagikan Berita Ini

0 Response to "โควิด-19 ระลอกใหม่พันธุ์เดลตา ส่งผลกระทบตลาดรถยนต์เป็นโดมิโน - ผู้จัดการออนไลน์"

Post a Comment

Powered by Blogger.