Search

ใช้สัญญาณในรถยนต์ให้ถูกต้องเพื่อหลีกเลี่ยงอุบัติเหตุ - ไทยรัฐ

ไม่ว่าจะเป็นสัญญาณมือที่เคยใช้กันในอดีต มาจนถึงสัญญาณไฟหรือสัญญาณเสียงแตร ควรคิดก่อนจะใช้สัญญาณนั้น ว่าเหมาะสมหรือไม่ และมีความจำเป็นที่จะต้องใช้สัญญาณนั้นหรือไม่ การใช้สัญญาณพร่ำเพรื่ออาจทำให้รถยนต์คันอื่นที่ขับตามมาเกิดความสับสน ควรใช้สัญญาณก่อนการกระทำทุกครั้ง เช่น การยกไฟเลี้ยวเพื่อเปลี่ยนช่องทาง เป็นสัญญาณปกติที่ผู้ขับรถยนต์ส่วนใหญ่ในปัจจุบันละเลย สัญญาณที่คุณใช้ไม่ได้หมายความว่าเมื่อใช้สัญญาณต่างๆ แล้วคุณจะมีสิทธิพิเศษบนถนน ไม่ควรใช้พร่ำเพรื่อเกินความจำเป็น และต้องสังเกตการณ์รอบๆ ตัวก่อนที่จะใช้สัญญาณต่างๆ และควรยกเลิกสัญญาณทันทีที่ใช้เสร็จแล้ว

ประเภทของสัญญาณในรถยนต์ของคุณ

-สัญญาณมือ
-สัญญาณไฟเลี้ยวเปลี่ยนทิศทาง
-สัญญาณเสียงแตร
-สัญญาณไฟฉุกเฉิน
-สัญญาณไฟเบรก
-สัญญาณไฟสูง
-สัญญาณของการขอบคุณซึ่งเป็นมารยาทในการขับรถที่ถูกละเลยมานานแสนนานแล้ว

ไฟเลี้ยว เปิดได้ไม่เสียเงิน 

เป็นสัญญาณที่ถูกละเลยและทำให้เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้งเมื่อรถที่จะเปลี่ยนช่องทางแต่ดันไม่เปิดสัญญาณไฟแจ้งเตือนล่วงหน้า ส่วนใหญ่เกิดจากการขาดความใส่ใจระลึกรู้ในกฎจราจรหรือกฎแห่งความปลอดภัยในการใช้รถ การเปลี่ยนช่องทางที่ถูกต้องควรใช้สัญญาณไฟเลี้ยวล่วงหน้าไม่ต่ำกว่า 50 เมตร มองให้ดีๆ ก่อนที่จะเปลี่ยนช่องทาง ไม่ใช่ยกไฟเลี้ยวปุ๊บก็หักพวงมาลัยเลี้ยวทันที สัญญาณไฟเลี้ยวซ้ายควรใช้ความระมัดระวังมากเป็นพิเศษ เพราะมีทั้งเลี้ยวเปลี่ยนช่องทางมาทางซ้ายหรือเลี้ยวซ้ายเข้าซอย รวมถึงสัญญาณเลี้ยวซ้ายเพื่อจอดรถชิดขอบทาง

ระวังการใช้สัญญาณไฟเลี้ยวซ้ายบริเวณทางแยกทางร่วม การวางตำแหน่งของรถที่ชัดเจนและการใช้ความเร็วที่เหมาะสมกับการเปลี่ยนช่องทางร่วมกับสัญญาณไฟเลี้ยวจะช่วยทำให้ปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ควรให้สัญญาณไฟเลี้ยวล่วงหน้าก่อน 3-5 วินาที ก่อนที่จะเริ่มเปลี่ยนช่องทางเมื่อเห็นว่าไม่ไปรบกวนรถที่ตามมาด้านหลัง การเปิดสัญญาณไฟเลี้ยวค้างไว้นานเกินไปจะสร้างความสับสนให้กับรถคันอื่นที่แล่นอยู่ด้านข้างและด้านหลัง

บีบแตร

ประเทศที่มีสภาพภูมิอากาศร้อนซื้น อากาศร้อนทั้งปีทั้งชาติ แม้จะอยู่ในรถที่มีระบบปรับอากาศ จิตใจของคนไทยนักขับบางคนก็ยังร้อนรุ่ม ขี้โมโห หงุดหงิดง่ายบนถนน โดยเฉพาะการโดนเตือนด้วยเสียงแตร แตรคือต่อยจึงควรที่จะใช้เท่าที่จำเป็น เสียงแตรในปัจจุบันท่ามกลางสภาพการจราจรในเมืองใหญ่กลายเป็นเสียงแห่งการกระตุ้นความโกรธ สำหรับนักขับอารมณ์ร้อน ไม่ควรบีบแตรแบบกดแช่ลากยาว การกดแตรยาวๆ เปรียบเหมือนการก่นด่า แทนที่จะเป็นการเตือนให้ระมัดระวัง

การใช้แตรกับคนเดินเท้าควรระวังมากเป็นพิเศษ บีบแตรแค่เตือนโดยกดสั้นๆ หากคนที่เดินเท้าไม่ทันสังเกตว่ามีรถอยู่ด้านหลัง คนที่กำลังจะข้ามถนน (ในเขตห้ามข้าม หรือจุดอันตรายมีรถใช้ความเร็วสูง) ในบางแง่มุมของกฎหมายจราจร เสียงแตร ถูกอนุญาตให้ใช้เพื่อป้องกันอุบัติเหตุ และเพื่อความปลอดภัยในการขับขี่เท่านั้น ห้ามใช้เสียงแตรระบายอารมณ์ขุ่นมัว โกรธ โมโห ไม่พอใจอย่างเด็ดขาด ควรเผื่อเวลาในการใช้สัญญาณเสียงแตร เช่นเตรียมหาช่องทางในการหลบหลีกหากมีคนกำลังจะข้ามถนนในเขตที่รถยนต์กำลังแล่นด้วยความเร็วสูง

สำหรับรถขับช้าแช่อยู่ขวา เมื่อกดแตรเตือนแล้วไม่หลบให้ยังคงแช่ยาวอยู่ในเลนรถเร็วเหมือนเดิมก็ต้องทำใจให้นิ่งเข้าไว้ แล้วหาจังหวะแซงผ่านซ้ายเอาเอง บางครั้งกดแตรเตือนว่าวิ่งช้าอยู่ในเลนรถเร็ว แล้วยกไฟสูงเตือน ก็แล้วยังทำเป็นทองไม่รู้ร้อนคาขวาอยู่เหมือนเดิม ก็ควรจะหาจังหวะแซงที่ปลอดภัย ดีกว่ามาขับจี้ท้ายเพื่อกดดันให้หลบ ทำแบบนั้นบ่อยๆ ในย่านความเร็วสูงบนไฮเวย์มันอันตราย แถมยังไปกระตุ้นอารมณ์โกรธของคนที่ขับช้าแช่อยู่ขวาอีกด้วย ในเมื่อเจ้าหน้าที่ผู้รักษากฎหมาย โดยเฉพาะกฎจราจร ไม่สามารถเอาผิดกับคนที่ขับช้าคาอยู่เลนขวาได้ คุณก็ต้องหาทางแซงเอาเอง ไปอารมณ์เสียกับรถช้าแช่ขวา มีหวังโรคประสาทถามหา เนื่องจากคนที่ขับรถแบบนั้นมีอยู่ทั่วบ้านทั่วเมือง 

ไฟฉุกเฉินหรือไฟขอทาง

ทำอะไรตามใจคือไทยแท้ สัญญาณฉุกเฉินที่เห็นกันจนชินตาในบ้านเราเกิดจากการใช้ตามความเข้าใจของตนเองเป็นหลัก โดยไม่ได้คำนึงถึงสภาพแวดล้อมความเหมาะสมและสถานการณ์ที่เกิดขึ้น แม้จะขับผ่านสี่แยกที่ไม่มีสัญญาณไฟจราจรก็ยังมีนักขับจำนวนไม่น้อยเปิดไฟขอทาง ไฟฉุกเฉิน หรือไฟผ่าหมาก แล้วแต่จะเรียกกันตามความถนัด ฝนตกอากาศปิดเพราะหมอกลงจัด หมอกควันจากไฟไหม้หญ้าข้างทางก็ยังมีคนเปิดไฟฉุกเฉินโดยคิดว่าให้สังเกตเห็นง่ายไว้ก่อน อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจากไฟฉุกเฉินจึงเกิดขึ้นจากรถร่วมทางที่แปลสัญญาณความหมายของไฟฉุกเฉินที่คุณเปิดผิดเต็มๆ เช่น วิ่งเข้ามาที่สี่แยกจากมุมใดมุมหนึ่ง สัญญาณไฟฉุกเฉินที่ปรากฏในสายตาของรถคันอื่นอาจแปลความหมายว่าคุณกำลังจะเลี้ยว ทั้งๆ ที่จะตรงไป ไม่มีใครมารับประกันว่ารถยนต์ร่วมทางคันอื่นจะเห็นไฟของคุณหมดทุกด้าน

กฎหมายจราจรกำหนดห้ามใช้ไฟฉุกเฉินขณะที่กำลังวิ่ง ในต่างประเทศก็เช่นกัน หากจะใช้ก็ให้ใช้เพียงแค่ช่วงระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น สัญญาณไฟฉุกเฉินใช้ในกรณีรถเสียแล้วไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้ หรือเมื่อต้องจอดล้ำเส้นออกมาในผิวการจราจร สัญญาณไฟฉุกเฉินนั้นไม่ได้ให้อภิสิทธิ์แก่ผู้ใช้อย่างที่เคยเข้าใจกันไปเอง และเมื่อฝนตกหนักก็ไม่ควรเปิดไฟฉุกเฉิน ซึ่งอาจทำให้รถร่วมทางเกิดความสับสนขณะที่กำลังวิ่งอยู่ท่ามกลางการมองที่ย่ำแย่ โปรดเข้าใจวิธีการใช้และเปลี่ยนความคิดที่เคยครอบงำทำให้ใช้ไฟฉุกเฉินผิดมาโดยตลอดด้วยเถอะครับ

ไฟสูง

การกะพริบไฟสูงเปรียบเหมือนการแจ้งเตือนคล้ายกับการใช้สัญญาณแตร มักใช้ในเวลากลางคืน แต่ก็ใช้ตอนกลางวันในบางจังหวะจะโคนที่ต้องการเตือนรถที่กำลังจะเลี้ยวกลับรถซึ่งอาจล้ำเข้ามาในเส้นทางที่คุณกำลังขับเคลื่อนอยู่ สัญญาณไฟสูงนอกจากจะเป็นการเตือนให้ระวังแล้วยังใช้เป็นเทคนิคพิเศษเพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุอีกด้วย ขณะขับรถตอนกลางคืนบนถนนแบบสองเลนสวนกัน การกะพริบไฟเตือนถือเป็นการแจ้งเตือนรถที่แล่นสวนทางมาเพื่อแจ้งให้ทราบหรือให้ระมัดระวัง

การกะพริบไฟสูงเหมาะกับทางข้ามยอดเนิน สะพานที่โค้งยาวต่อเนื่องรวมถึงเหลี่ยมมุมโค้งในหุบเขา ใช้ไฟสูงเพื่อเตือนรถที่แล่นสวนมาบนทางที่ค่อนข้างคับแคบ ยกไฟสูงเพื่อตรวจสอบมุมอับ ถนนที่มืดมิดไม่มีไฟส่องสว่าง หรือเพื่อตรวจสอบผิวถนนว่ามีอะไรหล่นหรือกองอยู่ เช่น เศษยางรถสิบล้อที่ระเบิด ไม้หนุนรถบรรทุก เศษดินที่รถบรรทุกทำหล่นไว้ การยกไฟสูงต้องระวังไม่ให้ไฟของคุณไปแยงตารถที่แล่นสวนมา หากเห็นว่ามีเพื่อนร่วมทางที่ขับสวนมาก็ต้องรีบตบไฟกลับไปเป็นไฟต่ำเพื่อเพิ่มมุมมองให้กับรถที่แล่นสวนมาด้วยความเร็ว แถมยังช่วยทำให้ปลอดภัยไฟสูงไม่ไปแยงตาจนรถสวนมามองอะไรไม่เห็นแล้วขับเข้ามาในเลนของคุณจนเกิดการประสานงากันขึ้น ไฟสูงยังใช้กะพริบเมื่อต้องการแซงอีกด้วย

แต่ไม่ควรเปิดไฟสูงคาใส่รถคันข้างหน้าจากความโมโหที่ไม่ยอมหลบให้แซง หาทางไปเอาเองเถอะครับ อย่าใช้อารมณ์ด้วยการสาดไฟสูงใส่ สุดท้ายอาจตามมาด้วยอุบัติเหตุหรือการทะเลาะเบาะแว้งซึ่งเป็นสิ่งที่สามารถเลี่ยงได้

ขอบคุณรถคันอื่นที่ให้ทางหรือเปิดช่องทางให้

การก้มหัวขอบคุณให้กับรถที่หยุดให้ทางคุณอย่างมีน้ำใจนั้นแทบจะหายไปบนท้องถนนของประเทศไทย แม้จะติดฟิลม์จนมืดราวกับถ้ำหมี หากคุณมีน้ำใจตอบกลับอยากขอบคุณรถที่หยุดให้ทางก็แค่ลดกระจกก้มหัวขอบคุณเขา หัดทำบ่อยๆ คุณจะรู้สึกดีและเพิ่มความน่าขับให้กับถนนในประเทศนี้ด้วยการมีน้ำใจแบ่งปันให้ทางกับรถที่กำลังจะออกจากซอย รถที่กำลังจะเลี้ยวหรือรถที่ขอทางรอเลี้ยว เสียเวลาแค่นิดเดียวแต่ช่วยทำให้อุบัติเหตุลดลงจากน้ำใจที่แบ่งปันกันบนถนน สุดท้าย สถิติการเสียชีวิตและบาดเจ็บในอันดับต้นๆ ของท้องถนนในประเทศไทยจะได้ลดลงมาบ้าง แค่ก้มหัวขอบคุณหรือยกนิ้วโป้งให้กับรถที่มีน้ำใจนั้นเป็นเรื่องง่ายๆ ที่กำลังจะถูกมองข้าม ฟิลม์ดำก็แค่ลดกระจกขอบคุณเขาบ้าง ไม่ถึงกับดิ้นตายเพราะเสียศักดิ์ศรีหรอกครับ ขอให้มีความสุขในวันหยุดครับ.

ผู้เขียน : อาคม รวมสุวรรณ
E-Mail chang.arcom@thairath.co.th
Facebook https://www.facebook.com/chang.arcom
https://www.facebook.com/ARCOM-CHANG-Thairath-Online-525369247505358/

Adblock test (Why?)

อ่านบทความและอื่น ๆ ( ใช้สัญญาณในรถยนต์ให้ถูกต้องเพื่อหลีกเลี่ยงอุบัติเหตุ - ไทยรัฐ )
https://ift.tt/2RA6wSX
รถยนต์

Bagikan Berita Ini

0 Response to "ใช้สัญญาณในรถยนต์ให้ถูกต้องเพื่อหลีกเลี่ยงอุบัติเหตุ - ไทยรัฐ"

Post a Comment

Powered by Blogger.